Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ 1 ก.ย.63 (YLG)

- Advertisement -

0 611

- Advertisement -

เน้นเก็งกำไรซื้อขายระยะสั้นจากการแกว่งตัวโดยมีแนวรับบริเวณ 1,954-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากราคาขยับขึ้นควรแบ่งขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านโซน 1,988-2,006 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ถ้าผ่านได้สามารถถือต่อ

แนวรับ : 1,950 1,934 1,916 แนวต้าน : 1,988 2,006 2,029

สรุป  ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น  4.41 ดอลลาร์ต่อออนซ์  แต่ปิดตลาดในเดือนส.ค.ด้วยการปรับตัวลดลงเป็นเดือนแรกหลังจากพุ่งขึ้น 4 เดือนติดต่อกัน  อย่างไรก็ดี  ราคาวานนี้ยังคงเคลื่อนไหวไม่ไกลจากระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์มากนัก  โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์  หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศเปลี่ยนกรอบนโยบายเงินเฟ้อไปเป็น “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย หรือ หรือ Average-inflation targeting (AIT)” ซึ่งจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือ 2% และทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้น  สถานการณ์ดังกล่าว  ส่งผลให้วานนี้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก -0.25% มาที่ 92.144 หลังจากที่แตะระดับต่ำสุดบริเวณ 91.993 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2018 ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ปรับลงราว 1.4% ในเดือนส.ค. ซึ่งทำให้เดือนส.ค.ปีนี้เป็นเดือนที่ย่ำแย่ที่สุดของดัชนีดอลลาร์ในรอบ 5 ปี และเป็นการร่วงลงรายเดือน 4 เดือนติดต่อกัน  ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงจากแรงเทขายทำกำไร  จึงเป็นปัจจัยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มเติม  ปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ราคาทองคำยังคงทรงตัวรักษาระดับไว้ได้  แม้ในระหว่างวันจะร่วงลงแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,954.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์  แต่ก็มีแรงซื้อคืนเข้ามาในที่สุด  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐจากมาร์กิตและ ISM, การใช้จ่ายด้านการก่อสร้าง และถ้อยแถลงของนาง เบรนาร์ด หนึ่งในผู้ว่าการเฟด

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 223.82 จุด จากแรงขายทำกำไร  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงเมื่อคืนนี้ (31 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากตลาดพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยหุ้นกลุ่มพลังงานถูกแรงขายทำกำไรทุบร่วงลงหนักสุด อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตลอดเดือนส.ค.พบว่า ดัชนีดาวโจนส์ทำสถิติแข็งแกร่งสุดในรอบ 36 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,430.05 จุด ลดลง 223.82 จุด หรือ -0.78% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,500.31 จุด ลดลง 7.70 จุด หรือ -0.22% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,775.46 จุด เพิ่มขึ้น 79.83 จุด หรือ +0.68%
  • (+) อดีตประธาน FDA คาดการอนุมัติวัคซีนต้านโควิดจะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งปธน.  นพ.สก็อตต์ ก็อตต์ลิเอ็บ อดีตประธานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่า FDA จะให้การอนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.  “ผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะได้ผลการทดลองวัคซีนในเดือนพ.ย. ส่วนการตัดสินใจเกี่ยวกับการให้การอนุมัติฉุกเฉินสำหรับวัคซีนดังกล่าวจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น” นพ.ก็อตต์ลิเอ็บกล่าว  นพ.ก็อตต์ลิเอ็บกล่าวว่า การมีหลักฐานที่เพียงพอในเดือนต.ค.เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน จะทำให้สหรัฐจำเป็นที่จะต้องเผชิญการแพร่ระบาดมากกว่านี้ และวัคซีนต้านโควิด-19 จะต้องมีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่สิ่งนี้จะทำให้สหรัฐไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้อำนาจอนุมัติฉุกเฉินภายในเดือนพ.ย.
  • (+) เฟดดัลลัสเผยดัชนีภาคการผลิตร่วงในเดือนส.ค. หลังดีดตัวติดต่อกัน 3 เดือน  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสปรับตัวลงสู่ระดับ 13.1 ในเดือนส.ค. จากระดับ 16.1 ในเดือนก.ค.  ดัชนีภาคการผลิตร่วงลงในเดือนส.ค. หลังจากดีดตัวขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน ขณะที่ทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงมีค่าเป็นบวกในเดือนส.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส
  • (+) ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก หลังเฟดส่งสัญญาณตรึงดอกเบี้ยต่ำ  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ส.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลาหลายปี ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทนนายชินโซ อาเบะ จะยังคงเดินหน้านโยบาย “อาเบะโนมิกส์” ต่อไป  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.23% แตะที่ 92.1605 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9032 ฟรังก์ จากระดับ 0.9050 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3027 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3094 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 105.87 เยน จากระดับ 105.41 เยน  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1935 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1890 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3376 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3341 ดอลลาร์
  • (+/-) รองประธานเฟดคาดเฟดเตรียมหารือมาตรการชี้นำนโยบายล่วงหน้า,การเปลี่ยนแปลงงบดุล  นายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวในวันนี้ว่า หลังจากที่เฟดได้ประกาศกรอบนโยบายการเงินแบบใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะนี้เฟดก็จะกลับมาหารือกันเกี่ยวกับการดำเนินการขั้นต่อไปในการชี้นำนโยบายล่วงหน้า และการเปลี่ยนแปลงในงบดุล  “ผมคิดว่าเราจะกลับมาหารือกันเกี่ยวกับการชี้นำนโยบายล่วงหน้าและงบดุล แต่ผมไม่ต้องการที่จะตัดสินล่วงหน้าว่าเรื่องดังกล่าวจะได้ข้อยุติอย่างไร” นายแคลริดากล่าว
  • (+/-) ประธานเฟดแอตแลนตาชี้ QE ไม่ใช่แนวทางดีที่สุดในการกระตุ้นศก.สหรัฐขณะนี้  นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เครื่องมือที่เฟดสามารถใช้ได้ในขณะนี้ เช่น การขยายวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้น ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเฟดในขณะนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้กลับสู่การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  ต่อข้อถามเกี่ยวกับความจำเป็นสำหรับเฟดในการเพิ่มวงเงิน QE นั้น นายบอสติกกล่าวว่า “สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่เป็นวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข ซึ่งผมคิดว่าถ้าหากเราหันเหออกจากความเป็นจริงก็จะทำให้เราให้ความสนใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”  นอกจากนี้ นายบอสติกยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

- Advertisement -

ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Leave A Reply

Your email address will not be published.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More