ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนและแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา( 18 ธ.ค.) ได้แข็งค่าแตะ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะอ่อนตัวมาแตะ 29.86 บาทต่อดอลลาร์ จากนั้นได้แข็งค่ากลับมาเคลื่อนไหวในแนว 29.77 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศโดยตรง
ทั้งนี้หลังจากที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นหนัก ทำให้ประเทศไทยถูกกระทรวงการคลังสหรัฐจัดให้อยู่ในประเทศที่ต้องเฝ้าจับตาดู เพราะสงสัยว่าประเทศไทยตั้งใจบิดเบือนค่าเงินเผื่อหวังผลทางการค้าหรือไม่ หรือมีการแทรกแซงมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยถูกสหรัฐจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าวร่วมกับ 10 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน , อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมายืนยันว่าไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ และที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจกับสหรัฐ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า
มาดู 6 ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาต่อเนื่อง
1.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในระดับสูง เพราะการนำเข้าที่ลดลงทำให้ไทยเกินดุล เมื่อส่งออกมากกว่าทำให้มีเงินต่างประเทศที่ได้จากการขายของมาแลกกลับเป็นเงินบาท ทำให้ความต้องการค่าเงินบาทที่ยังสูงถึงแม้ว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาแลกเงินก็ตาม
2.ไทยยังมีเงินเฟ้อในระดับต่ำ โดยเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยเฉลี่ยแค่เพียง 0.1% เทียบกับของสหรัฐที่อยู่ระดับ 1.6% เมื่อนำเงินบาทไปเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินไทยที่เฟ้อน้อยกว่าจะถือว่าด้อยค่าช้ากว่าและมีมูลค่าแข็งขึ้นมากกว่าตามกาลเวลาที่ผ่านไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
3.อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ระดับสูงกว่าประเทศอื่น ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ +0.5% ก็ตาม แต่หากเทียบกับอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้วยังต่ำกว่าไทย โดยในประเทศฝั่งยุโรปติดลบหลายประเทศ ขณะที่สหรัฐก็อยู่ที่ 0% ทำให้เงินทุนยังคงไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพราะเงินจะไหลมาหาที่ฝากที่ดอกเบี้ยได้สูงกว่าเสมอ
4. เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนประเทศอย่างต่อเนื่อง เพราะดอกเบี้ยไทยที่สูงกว่าทำให้ต่างชาติยังเทเงินเข้ามาซื้อพันธบัตรในประเทศ และต่างชาติที่ซื้อหุ้นไทยก็ยังต้องแลกเงินบาทเพื่อมาใช้ในการดำเนินงานด้วย ทำให้ความต้องการเงินบาทที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ค่าเงินแข็งขึ้น
5.Bloomberg เพิ่งจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศ Emerging Market ที่จะมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในโลกในปีหน้า แซงหน้าเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และทุกประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในโลก การที่เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็จะยิ่งทำให้เงินที่ไหลเข้ามาในเอเชียโดยมุ่งมาที่ไทยเป็นหลัก
6. ปัจจัยจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงไปเอง หลัง FED ประกาศคงอันตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0% และจะยังอัดฉีด QE อย่างต่อเนื่อง ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ USD Index จึงอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี และไปอยู่ที่ 89.87 จุด จนเมื่อเทียบกับบาทแล้ว บาทจึงแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ดีแม้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะแข็งค่าไปมากกว่านี้ จะต้องผ่านแนวรับที่สำคัญอีกหลายจุด
1.แนวรับที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นแนวรับทางจิตวิทยา หากตลาดยังคงดีดกลับไปปิดสูงกว่าแนวรับนี้ได้ในระยะสั้น จะยิ่งทำให้นักลงทุนเชื่อว่าค่าเงินบาทที่ 30 บาทต่อดอลลาร์คงแข็งค่าเกินไปแล้ว และอาจเข้ามาช้อนซื้อเก็งกำไร
2.แนวรับที่ 29.7 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับต่ำสุดที่ตลาดเคยลงไปแตะเมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนที่จะเด้งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คงยังมีเทรดเดอร์จำนวนมากที่จ้องจะรับซื้อค่าเงินบาทที่แนวรับนี้ แต่หากหลุดแนวรับนี้ไปได้อาจจะมีแรงเทขาย เข้ามาทำให้บาทแข็งต่อไปได้
3.แนวรับที่ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งน่าจะเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งที่สุด ราคานี้คือระดับต่ำสุดที่ตลาดลงไปแตะเมื่อปี 2013 แต่ถ้าหากค่าเงินบาทสามารถหลุดแนวรับนี้ไปได้ ก็จะแข็งค่าที่สุดในรอบ 23 ปี และค่าเงินบาทยังไม่เคยแข็งค่าไปมากกว่านี้นับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
CR : ทันโลกกับTraderKP
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.