Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 6 ต.ค.65 by YLG

- Advertisement -

1,504

- Advertisement -

คำแนะนำ       เปิดสถานะซื้อ$1,710-1,706

จุดทำกำไร    ขายเพื่อทำกำไร $1,729-1,735

ตัดขาดทุน     ตัดขาดทุนสถานะซื้อหากหลุด $1,688

แนวรับ : 1,703 1,688 1,670  แนวต้าน : 1,735 1,754 1,772

สรุป

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 10.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไปหลังการเกิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมา “ดีเกินคาด” ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐจาก ADP ที่เพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง

ส่วน ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการเดือนก.ย.ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 56.7 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56 และตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลงเกินคาด 4.3% สู่ระดับ 6.74 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2021

นอกจากนี้ การคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากความเห็นในเชิง Hawkish ของนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ที่กล่าวเมื่อวันพุธว่า การต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มจะ “ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น”พร้อมเตือนว่าเฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจเร็วนัก ปัจจัยดังกล่าวหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น 0.91%

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งสู่ระดับ 3.761% และเป็นการปรับตัวขึ้นในวันเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ 26 ก.ย. ทำให้ราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,700.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวลดช่วงติดลบโดยได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและแรงซื้อ Buy the dip หลังจากทองยืนเหนือแนวรับจิตวิทยาได้ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม +1.71 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ

ข่าวสารประกอบการลงทุน

- Advertisement -

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 42.45 จุด กังวลจ้างงานพุ่งหนุนเฟดเร่งขึ้นดบ.  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (5 ต.ค.) หลังมีรายงานว่าตัวเลขจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนก.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,273.87 จุด ลดลง 42.45 จุด หรือ -0.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,783.28 จุด ลดลง 7.65 จุด หรือ -0.20% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,148.64 จุด ลดลง 27.77 จุด หรือ -0.25%
  • (+) โอเปกพลัสเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว มีมติหั่นกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วัน  กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้เสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้แล้ว โดยที่ประชุมมีมติปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ย.  การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว เป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของโอเปกพลัสนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
  • (+)  “เจพีมอร์แกน” คาดราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะ $100 ใน Q4/65  บริษัทเจพีมอร์แกนออกรายงานระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดอาจพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลในไตรมาส 4 ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาด
  • (-) สหรัฐเผยขาดดุลการค้าต่ำกว่าคาดในเดือนส.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าสหรัฐลดลง 4.3% สู่ระดับ 6.74 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2564 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.77 หมื่นล้านดอลลาร์
  • (-) ฟิทช์ปรับลดแนวโน้มเครดิตอังกฤษสู่เชิงลบ กังวลรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่ม  ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของอังกฤษลงสู่ระดับ “เชิงลบ” จาก “มีเสถียรภาพ” ในวันพุธ (5 ต.ค.) โดยระบุว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของรัฐบาลมีความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเลขขาดดุลงบประมาณของอังกฤษปรับตัวสูงขึ้น  ทั้งนี้ ฟิทช์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษไว้ที่ AA- ซึ่งเป็นอันดับสูงสุดระดับที่ 4 อย่างไรก็ดี ฟิทช์ได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของธนาคารอังกฤษ (BoE) ลงสู่ระดับ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” โดยระบุถึงความเชื่อมโยงของ BoE กับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
  • (-) ดอลลาร์แข็งค่า หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (5 ต.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐดีดตัวขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้  ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.91% แตะที่ระดับ 111.0740  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.47 เยน จากระดับ 143.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9825 ฟรังก์ จากระดับ 0.9787 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3602 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3510 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9895 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0000 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1479 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6507 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6498 ดอลลาร์สหรัฐ 
  • (-) ดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐหดตัวเดือนที่ 3 ในก.ย.  เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.3 ในเดือนก.ย. จากระดับ 43.7 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 49.2
  • (-) ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐปรับตัวลงในเดือนก.ย.  สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 56.7 ในเดือนก.ย. จากระดับ 57.9 ในเดือนส.ค.  อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคบริการปรับตัวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.0
  • (-) ADP เผยการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐสูงกว่าคาดในเดือนก.ย.  ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 208,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ตำแหน่ง จากระดับ 185,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.

ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More