คำแนะนำ เปิดสถานะซื้อ 1,841-1,823
จุดทำกำไร ขายเพื่อทำกำไร $1,878-1,899
ตัดขาดทุน ตัดขาดทุนสถานะซื้อหากหลุด $1,823
แนวรับ : 1,841 1,823 1,808 แนวต้าน : 1,878 1,899 1,920
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาทองคำจะได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีให้พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเหนือ 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ธันวาคม 2018 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย จนทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 1,850.38 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อ Buy the dip และแรงซื้อทางเทคนิค ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุด 2.915% หลังจากแรงขายพันธบัตรอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มดึงดูดผู้ซื้อ
ขณะที่นักลงทุนบางส่วนได้ซื้อปิดสถานะ short ในพันธบัตรก่อนจะทราบผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงจากแรงขายกำไร ส่งผลให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาทำระดับสูงสุดบริเวณ 1,877.79 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะลดช่วงบวกลงเนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังการถือสถานะทองคำก่อนทราบผลการประชุมเฟด ในช่วงกลางดึกของคืนวันนี้ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -3.19 ตัน
สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยการจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย. จาก ADP และดัชนี PMI ภาคบริการ อีกทั้งต้องจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในเวลา 01.00 น. คาดเฟด “ขึ้น” ดอกเบี้ย อีก 0.5% หรือ 50 bps สู่ระดับ 0.75-1.0% และประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนการปรับลดงบดุล (Quantitative Tightening) พร้อมติดตามถ้อยแถลงนายเจอโรม พาวเวลประธานเฟดในเวลา 01.30 น. เกี่ยวกับสัญญาณเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ขึ้นดอกเบี้ยที่้ฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75% หรือ 75 bps ในบางการประชุมเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวผันผวนได้ทั้ง 2 ทิศทาง
ข่าวสารประกอบการลงทุน
• (+) ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก นักลงทุนจับตาผลประชุมเฟด ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (3 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรก่อนที่จะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่า หลังจากธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินคาดในการประชุมเมื่อวานนี้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.27% แตะที่ 103.4620
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0529 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0495 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2491 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2475 ดอลลาร์
ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7095 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7039 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2840 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2901 ดอลลาร์แคนาดา และทรงตัวเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9786 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 130.18 เยน จากระดับ 130.15 เยน
• (+) โลกผวา! “ปูติน” เตรียมเปิดหน้า ประกาศสงครามยูเครน 9 พ.ค. จ้าหน้าที่สหรัฐและชาติตะวันตกระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะประกาศสงครามต่อยูเครนอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็น “วันแห่งชัยชนะ” ของรัสเซีย โดยทหารโซเวียตรัสเซียในขณะนั้นสามารถพิชิตกองทัพนาซีในวันดังกล่าวในปี 1945 ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครนในวันที่ 24 ก.พ. ซึ่งปธน.ปูตินระบุว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซีย โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “การทำสงคราม” การประกาศสงครามต่อยูเครนอย่างเป็นทางการ จะทำให้รัฐบาลรัสเซียสามารถเรียกระดมกำลังทหารสำรองได้อย่างเต็มที่ หลังจากที่เผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากยูเครนจนทำให้แผนการรบต้องล่าช้าออกไป
• (+) รัสเซียเอาคืน! “ปูติน” ลงนามกฤษฎีกาคว่ำบาตรเศรษฐกิจ “ประเทศไม่เป็นมิตร” ทำเนียบเครมลินแถลงว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ลงนามในกฤษฎีกาวันนี้เพื่อคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อ “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร” ต่อรัสเซีย ทั้งนี้ กฤษฎีกาดังกล่าวระบุว่า รัสเซียจะระงับการส่งออกผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบต่อประเทศและองค์กรที่อยู่ในรายชื่อที่ถูกคว่ำบาตร นอกจากนี้ ประเทศ, องค์กร, บริษัท และบุคคลที่อยู่ในรายชื่อถูกคว่ำบาตร จะถูกลงโทษโดยห้ามการทำธุรกรรมใดๆกับทางการรัสเซีย ขณะที่องค์กร, บริษัท และนักธุรกิจชาวรัสเซียมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีใดๆ ซึ่งรวมถึงสัญญาทางการค้า ที่มีต่อประเทศ “ที่ไม่เป็นมิตร” ต่อรัสเซีย ทั้งนี้ รัฐสภารัสเซียจะทำการพิจารณาเพื่ออนุมัติรายชื่อประเทศ, องค์กร, บริษัท และบุคคลที่อยู่ในรายชื่อที่จะถูกคว่ำบาตร ภายในเวลา 10 วัน
• (-) สหรัฐเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนมี.ค. สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 205,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.5 ล้านตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่ง
• (-) นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย. เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 91% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันที่ 3-4 พ.ค. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. และ 0.75% ในเดือนมิ.ย. จะทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.50-1.75% จากปัจจุบันที่ระดับ 0.25-0.50%
• (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 67.29 จุด ก่อนตลาดรู้ผลประชุมเฟด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันอังคาร (3 พ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงมติการประชุมในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,128.79 จุด เพิ่มขึ้น 67.29 จุด หรือ +0.20%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,175.48 จุด เพิ่มขึ้น 20.10 จุด หรือ +0.48% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,563.76 จุด เพิ่มขึ้น 27.74 จุด หรือ +0.22%
• (+/-) “ปูติน-มาครง” ต่อสายตรงหารือสถานการณ์ยูเครน ทำเนียบเครมลินแถลงว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ในวันนี้ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ขณะเดียวกัน ปธน.ปูตินระบุว่า รัสเซียยังคงเปิดกว้างสำหรับการเจรจาสันติภาพกับยูเครน
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.