Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 13 ต.ค.64 by YLG

- Advertisement -

249

- Advertisement -

คำแนะนำ :

เน้นการเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว หากราคาขยับขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,771-1,787 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถผ่านได้ แนะนำขายทองคำออกมา เพื่อรอเข้าซื้อคืนบริเวณแนวรับ 1,747-1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,747 1,735 1,721  แนวต้าน : 1,771 1,787 1,808

สรุป  

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย  หลังจากดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 117.72 จุด หรือ -0.34% จากความวิตกกังวลว่าการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานจะยิ่งทำให้ปัญหาคอขวดด้านอุปทานย่ำแย่ลง  จนส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจ  สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับ “ลด” ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจากเดิมที่เมื่อเดือนก.ค.คาดว่าจะขยายตัว 6.0% เหลือเป็นขยายตัว 5.9% จากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานเช่นกัน  นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการเปิดเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานของสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงแตะ 10.4 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.9 ล้านตำแหน่ง  สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลหนุนให้ราคาทองคำทะยานขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ  1,769.21  ดอลลาร์ต่อออนซ์  อย่างไรก็ดี  ราคาทองคำอ่อนตัวลงในเวลาต่อมา  โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนหน้า  ขณะที่การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานซึ่งอาจกระตุ้นเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เฟดดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้  สถานการณ์ดังกล่าวหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จนเป็นปัจจัยสกัดช่วงบวกราคาทองคำเอาไว้  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และรายงานการประชุม FOMC Meeting Minutes ประจำเดือนก.ย.

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 117.72 จุด จับตาผลประกอบการ-รายงานประชุมเฟด  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนพลังงาน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ของธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐ รวมทั้งรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,378.34 จุด ลดลง 117.72 จุด หรือ -0.34% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,350.65 จุด ลดลง 10.54 จุด หรือ -0.24% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,465.93 จุด ลดลง 20.28 จุด หรือ -0.14%
  • (+) สหรัฐเผยตัวเลขการเปิดรับสมัครงานลดลงในเดือนส.ค.  สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ปรับตัวลดลงแตะ 10.4 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากที่พุ่งทำสถิติเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ค. และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.9 ล้านตำแหน่ง  ส่วนอัตราการเปิดรับสมัครงานปรับตัวลดลงแตะ 6.6%
  • (+) IMF ปรับลดคาดการณ์ศก.โลก เหตุปัญหาคอขวดซัพพลายกระทบการฟื้นตัว  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจากเดิมที่เมื่อเดือนก.ค.คาดว่าจะขยายตัว 6.0% เหลือเป็นขยายตัว 5.9% ขณะที่ยังคงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีหน้าไว้ว่าจะขยายตัว 4.9%  IMF ระบุในรายงาน World Economic Outlook ว่า ปัญหาด้านซัพพลายเชนนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ IMF จะปรับลดตัวเลขคาดการณ์เพียงเล็กน้อยในภาพรวมทั่วโลก แต่สำหรับบางประเทศนั้น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แนวโน้มของประเทศเหล่านี้มืดมนมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ
  • (-) ZEW เผยดัชนีความเชื่อมั่นเยอรมนีร่วงลงในเดือนต.ค. ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5  ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีร่วงลงสู่ระดับ 22.3 ในเดือนต.ค. จาก 26.5 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวลงแตะที่ 24.0
  • (-) ดอลล์แข็งค่า ตลาดจับตาเงินเฟ้อสหรัฐ-รายงานประชุมเฟด  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนหน้า นอกจากนี้ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.22% แตะที่ 94.5220 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.66 เยน จากระดับ 113.32 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9308 ฟรังก์ จากระดับ 0.9272 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2462 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2479 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1529 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1560 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3593 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3609 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียทรงตัวที่ระดับ 0.7353 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (+/-) โมเดอร์นาวอน FDA อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดโดส 3 สำหรับผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยงสูง  บริษัทโมเดอร์นาออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์นาโดสที่ 3 สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More