Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

จับตา 5 ประเด็นหลัก ที่จะ “ดึง” หรือจะ “ดัน” ราคาทองคำในไตรมาส 2

- Advertisement -

275

- Advertisement -

หลังจากที่เมื่อวานนี้ นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG ได้พูดถึงถึงภาพรวมของราคาทองคำในไตรมาสแรกของปีนี้ไปแล้ว รวมถึงได้เกริ่นถึงปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงไตรมาสที่  2  ที่คาดว่าจะส่งผลต่อราคาทองคำ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม..)

มาในวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดเพิ่มเติมกัน ทั้งนี้ทางประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG ได้กล่าวกับ GoldAround.com ถึงปัจจัยหลักที่ต้องติดตามในไตรมาส 2 มีดังนี้

ceo ylg bitcoin goldaround 09.02
ceo ylg bitcoin goldaround 09.02

ปัจจัยแรกคือการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ หลังจากที่ดัชนีดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้แข็งค่า ขึ้นราว 4% จากหลายปัจจัย อาทิ การคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ การกระจายวัคซีนต้าน COVID-19 ที่มีความคืบหน้า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล รวมไปถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินยูโร

ทั้งนี้นักวิเคราะห์กว่า 85% หรือ 48 คนจากทั้งหมด 56 คนที่ตอบคำถามใน Reuters poll ในช่วงปลายเดือน มี.ค. คาดการณ์ว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ในปัจจุบันจะคงอยู่อย่างน้อยอีก 1 เดือน อีก 11 คนคิดว่าการแข็งค่าของดอลลาร์จะดำเนินต่อไป 3-6 เดือน ที่เหลือ 16 คนคิดว่าจะใช้เวลานานกว่า 6 เดือน ดังนั้นหากดัชนีดอลลาร์แข็งค่าต่อไปในไตรมาส 2 ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันราคาทองคำต่อไป

- Advertisement -

ปัจจัยต่อมาคือการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2021 เป็นช่วงเวลาที่ราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวจากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง บวกกับแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ทำให้ความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง จึงหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน

เมื่อบวกรวมกับการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง ทำให้กระทรวงการคลังต้องเพิ่มการระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาว ซึ่งอุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

ขณะที่เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลัง กระตุ้นการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ให้ทะยานขึ้นจากระดับ 0.99% ในช่วงปลายปี 2020 จนกระทั่งแตะระดับสูงสุดที่1.774% เพราะต้นทุนที่สำคัญที่สุดของทองคำ คือ ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) จากการใช้เงินลงทุนในการซื้อขายทองคำแทนที่จะใช้ไปซื้อพันธบัตร หรือ ฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ย การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวจึงปรับตัวสูงขึ้น จึงกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยนั่นเอง

“ดังนั้นต้องมาติดตามว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะทะยานขึ้นต่อไปได้อีกมากน้อยเพียงใด หากนักลงทุนยังคงคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และตราบใดที่เฟดยังไม่เข้ามาดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อชะลอการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร นั่นจะสร้างแรงหนุนให้กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่อไป”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG กล่าว

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ส่งผลต่อตลาดในวงกว้าง เนื่องจากทำให้ต้นทุนกู้ยืมของภาคธุรกิจพุ่งขึ้น และอาจกระทบต่อแผนการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน ดังนั้นหาก FED ส่งสัญญาณออกมาตรการเพื่อจำกัดการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร จะชะลอการพุ่งขึ้น ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัวได้

- Advertisement -

ปัจจัยต่อมาคือการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) หาก  FED ยังไม่เร่งรีบในการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย และยังคงจุดยืนว่า “อัตราดอกเบี้ยของ FED จะอยู่ใกล้ 0 % ไปจนถึงปี 2023” รวมถึงหาก FED ยังเดินหน้าเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE และไม่เร่งเรีบในการปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีแนวโน้มจะเป็นปัจจัยที่หนุนราคาทองคำในปีนี้

ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หรือ หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจนทำให้ FED เริ่มต้นส่งสัญญาณในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้เป็นปกติ ทั้งในแง่ของการคาดการณ์เกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กำหนดเวลาในการลดวงเงิน QE  ก็จะเป็นปัจจัยที่กลับมากดดันราคาทองคำในระยะกลางและยาวได้อย่างมาก

อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกจากกองทุน SPDR ซึ่งในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงไปแล้วถึง -133.24 ตัน จากระดับ 1,170.74 ตันสู่ระดับ 1,037.50 ตัน และเป็นการลดการถือครองทองคำ 6 เดือนติดต่อกันรวม -231.24 ตัน หลังจากลดการถือครองทองคำลง 98 ตันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

และปัจจัยสุดท้ายที่ต้องจับตามองใกล้ชิดคือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์) หลังจากที่ประเทศแถบตะวันตก ซึ่งรวมถึงสหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพยุโรป (EU) ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรพลเมืองและหน่วยงานบางแห่งของจีน โดยอ้างเหตุผลว่ามีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ทำให้รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้ชาติตะวันตกทันที สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มย่ำแย่ต่อไป ขณะที่เกาหลีเหนือเริ่มกลับมาทดสอบขีปนาวุธพิสัยใกล้เป็นครั้งแรกในรอบปีเพื่อท้าทาย ปธน.ไบเดน ดังนั้นปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

นี่คือปัจจัยหลักๆ ที่คาดว่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ที่นักลงทุนจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนการคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำทั้งในระยะสั้นและระยะกลางในมุมมองของ YLG จะเป็นอย่างไร ติดตามกันได้ในวันพรุ่งนี้

ขอบคุณข้อมูล : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More