ราคาทองคำเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาร่วงแรงกว่า 45 ดอลลาร์ หลังดัชนีดอลลาร์ปรับขึ้น 90.46 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร สหรัฐ 10 ปี เพิ่มขึ้น1.613% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยในคืนนี้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ทุกตัว ทำให้เมื่อช่วง 2 ทุ่มเศษที่ผ่านมาราคาทองคำร่วงแตะจุดต่ำสุดที่ 1,865 ดอลลาร์ หลังเมื่อช่วงเช้าขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1,909 ดอลลาร์ ก่อนจะได้แรงรีบาวด์กลับเข้ามาทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 1,873 ดอลลาร์ (21.40 น.) (ดูกราฟราคาทองคำ)
ทั้งนี้ในทางเทคนิคที่ระดับ 1,882 ดอลลาร์ ถือว่าเป็นแนวต้านสำคัญ หากราคาทองคำยืนกลับมายืนเหนือแนวดังกล่าวไม่ได้ อาจจะลงไปทดสอบแนวรับแถว 1,860 ดอลลาร์ แต่หากยืนเหนือ 1,882 ดอลลาร์ได้ แนวต้านต่อไปจะอยู่แถว 1,894 ดอลลาร์ และอาจจะกลับไปยืนเหนือ 1,900 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา(ตามเวลาในประเทศไทย) ประกอบด้วย ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ค. ซึ่งทาง ADP และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ ระบุพุ่งขึ้น 978,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 680,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม ADP ได้ปรับตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย. เป็นเพิ่มขึ้นเพียง 654,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าพุ่งขึ้น 742,000 ตำแหน่ง
ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายครั้งแรกรายสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 29 พ.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุได้ลดลงสู่ระดับ 385,000 ราย โดยเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 390,000 ราย แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานแข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับลดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 405,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 406,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงสู่ระดับ 428,000 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์
ขณะที่มาร์กิตรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค. พุ่งขึ้นสู่ระดับ 70.4 สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2552 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 70.1 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 64.7 ในเดือนเม.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัว
ส่วนดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือน พ.ค.อยู่ที่ ระดับ64%เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.7% และดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 63.0%
ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวในช่วงต้นเดือนเม.ย.จนถึงปลายเดือนพ.ค. โดยเศรษฐกิจในหลายรัฐมีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และ หลายรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนค่าจ้างมีการขยายตัวปานกลาง โดยมีบริษัทอีกจำนวนมากที่เสนอเงินโบนัสและขึ้นค่าจ้างเพื่อที่จะดึงดูดพนักงาน
อย่างไรก็ดี บริษัทในสหรัฐกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้หลีกเลี่ยงการเพิ่มผลิต และมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจลดชั่วโมงการทำงาน นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซัพพลายเชนส่งผลให้ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นและต้องจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.