Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

YLG ชี้ 4 คีย์หลัก ที่จะส่งผลต่อราคาทองคำในไตรมาส 4

- Advertisement -

1,198

- Advertisement -

แม้ว่าภาพรวมราคาทองคำในไตรมาส 3 ของปีนี้ อาจจะสร้างความผิดหวังให้นักลงทุนหลายคน หลังราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง 145.57 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็น -8.06%

โดยปัจจัยหลัก ที่กดดันทองคำมาจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

โดยในไตรมาสที่ 3 เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 150 bps หนุนให้ดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น 7.1% และเป็นปัจจัยหลักที่กดดันราคาทองคำให้ร่วงลงแรงในไตรมาส 3 นั่นเอง

แม้ไตรมาส 3 ทองคำจะมีผลตอบแทนไม่สดใส แต่หากดูผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึง 30 ก.ย. เปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ ทั่วโลก ดูเหมือนว่า Performance ของทองคำก็ไม่ได้ย่ำแย่นัก โดยเป็นสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ แม้จะเผชิญกับปัจจัยลบอย่างหนัก สะท้อนให้เห็นถึงความยืนหยุ่นของทองคำได้เป็นอย่างดี

คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวกับ GoldAround.com

ขณะที่ ราคาทองคำในประเทศ ช่วงไตรมาส 3 ก็มีการปรับตัวลดลง 400 บาทต่อบาททองคำ หรือ -1.32% แต่กระนั้นนักลงทุนชาวไทยที่ถือทองคำตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ยังคงได้กำไร

- Advertisement -

โดยนับตั้งแต่ต้นปี ถึงไตรมาส 3 ทองคำในประเทศยังคงปรับตัวขึ้น 1,200 บาทต่อบาททองคำ  หรือ คิดเป็น +4.20% โดยได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งช่วยพยุงให้ราคาทองคำในประเทศยังคงทรงตัวในระดับสูง

ส่วนปัจจัยที่ต้องตามต่อในไตรมาส 4 ทาง YLG ได้คัดเอา 4 ปัจจัยพื้นฐานหลักที่อยากให้นักลงทุนทองคำจับตาอย่างใกล้ชิด 

ปัจจัยแรก คือ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวต่อไป หรือจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

- Advertisement -

ปัจจุบันมีโอกาส 52% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 75 bps ในเดือน พ.ย. และ มีความเป็นไปได้ 48% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุม ในเดือน พ.ย. และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 50 bps ในการประชุมเดือนธ.ค. หากเป็นเช่นนั้น จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.25-4.50% ในภายในสิ้นปีนี้ 

ดังนั้น หากเฟดดำเนินการอย่างแข็งกร้าวต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาทองคำดิ่งลงต่อได้  กลับกันหากมีปัจจัยที่ส่งผลให้เฟด ชะลอ การคุมเข้มนโยบายการเงิน จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำได้อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยที่ 2 คือ

เศรษฐกิจที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ เฟดจะ Soft Landing หรือ Hard Landing

ทั้งนี้ ได้เริ่มเกิดความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การที่เฟด เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว เพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และอาจเลวร้ายถึงขนาดเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว เนื่องจาก GDP หดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ดูเหมือนจะยังเร็วไปที่จะตัดสินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับข้อมูลอื่น ๆ อาทิ การจ้างงาน การผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่าย และรายได้ส่วนบุคคลประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งจนถึงตอนนี้ 

ดังนั้น YLG แนะนำให้นักลงทุนติดตามการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขในตลาดแรงงาน 

แน่นอนว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรือ หากเลวร้ายถึงขนาดเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจจะส่งผลให้เฟดต้องชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงิน หรือ กลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงิน รวมถึง กระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำในที่สุด

ปัจจัยที่ 3 คือ

ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ และ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง จีน และ สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ระหว่าง รัสเซีย กับ ยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ หรือ Midterm Election ในปี 2022 จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 8 พ.ย.  ซึ่งผลการเลือกตั้งอาจเปลี่ยนเสียงข้างมากในสภา ซึ่งจะกระทบต่อการออกนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนอีกด้วย

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถดถอยลง รวมไปถึง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหรัฐฯ จะช่วยสร้างฐานให้แก่ราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ปัจจัยที่ 4 ซึ่งเป็นปัจจัยสุดท้าย คือ

กระแสเงินทุน ไหลเข้า-ออก จากกองทุน ETF ทองคำ

ซึ่งในปี 2022 กองทุน SPDR ได้ถือครองทองคำลดลงในเดือน พ.ค., มิ.ย., ก.ค., ส.ค. และ ก.ย. ถึง 5 เดือนติดต่อกัน รวม 154.85 ตัน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 30 ก.ย. กองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลงแล้วทั้งสิ้น -35.96 ตัน

ส่วนการคาดการณ์ราคาทองคำในช่วงสุดท้ายของปีนี้

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG มองว่า ระยะกลาง ราคาทองคำอยู่ใน Downtrend เส้นสีแดง

นับตั้งแต่ราคาขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดของปีนี้บริเวณ 2,069 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ราคาทองคำก็เคลื่อนไหวในลักษณะการทำ Lower High และ Lower Low ต่อเนื่อง จนเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะ 50, 100 และ 200 วัน ทำให้ยังคงประเมินว่าราคายังคงอยู่ใน Downtrend

อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ ราคาเริ่มมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นในระยะสั้น ด้วยการยกระดับต่ำสุดขึ้นพร้อมกับดีดกลับมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 10 และ 21 วันได้สำเร็จ

ทำให้ภาพรวมทางเทคนิคของทองคำในระยะสั้นเป็นบวกมากขึ้น และมีโอกาสดีดตัวขึ้นทดสอบกรอบด้านบนในระยะกลางบริเวณ 1,735-1,707 ดอลลาร์

ทั้งนี้ หากผ่าน 1,735 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะทำให้ทิศทางของราคาทองคำในระยะกลางเป็นบวกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากราคาผ่าน Downtrend สีแดงในระยะกลาง และเริ่มทำ Higher High ในระดับ Monthly

แต่หากราคาอ่อนตัวลง ประเมินกรอบแนวรับแรกบริเวณ 1,614-1,598  ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้ยังมีโอกาสดีดตัวขึ้น แต่หากยืนไม่ได้ มุมมองเชิงลบจะยิ่งมากขึ้น

โดยราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อทดสอบกรอบราคาด้านล่าง บริเวณแนวรับโซน 1,566 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ( ระดับต่ำสุดเดือน เม.ย. 2020 )

ดังนั้น ราคาปิดสิ้นปีของทองคำยังขึ้นอยู่ปัจจัยพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยมองว่า หากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไปในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ และทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดสิ้นสุดปีสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่  4.25-4.50%  อาจทำให้ราคาทองคำในปีนี้ปิดตลาดต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ 

กลับกันหากเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ย และทำให้อัตราดอกเบี้ยเฟดสิ้นสุดปีนี้ต่ำกว่า 4.25-4.50% ก็จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทองคำฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4 และ ปิดตลาดเหนือ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณข้อมูล : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More