มาดูการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร เดือน ส.ค. ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เกือบ 500,000 ตำแหน่ง แต่สิ่งที่ตลาดมองผ่านตัวเลขดังกล่าว คือ เฟด อาจจะไม่ประกาศแผนการลด QE ในการประชุม FOMC ในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะถึงการประชุมดังกล่าว มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน อัตราการหมุนเวียนของแรงงาน และ ข้อมูลสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง เดือน ก.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนั้น ยังต้องรอฟังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดในระหว่างสัปดาห์ ซึ่งนักลงทุนสามารถประเมินแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเบื้องต้น ก่อนที่จะทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะในประเด็นการลด QE ในการประชุมเฟดเดือน ก.ย.
โดยวันพุธ จะเป็นคิวของ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก และ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาดัลลัส ส่วนวันพฤหัสเป็นคิวของ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาชิคาโก ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาบอสตัน และ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขามินนีแอโพลิส
หากถ้อยแถลงที่ออกมา แสดงความวิตกเกี่ยวกับการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน และแสดงท่าทีในเชิงให้เฟดชะลอการตัดสินใจในการลด QE จะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ
คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG กล่าวกับ GoldAround.com
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่น่าติดตาม ในวันที่ 9 ก.ย คือ การคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ECB จะยังคงนโยบายการเงิน ทั้งวงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ และอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม
อย่างไรก็ดี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้น 3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่เหนือระดับเป้าหมายของ ECB ที่ 2% นั่นทำให้นักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ECB จะประกาศปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเดือน ธ.ค.นี้ ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์อีกว่า ECB อาจมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจในการประชุมครั้งนี้อีกด้วย
ดังนั้น หาก ECB มีมุมมองทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น หรือ ส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงการเตรียมถอนคันเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงิน อาทิ การ taper วงเงินในการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ PEPP อาจเป็นปัจจัยหนุนยูโร และทองคำ กลับกันหาก ECB ยังคงเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันยูโรและทองคำ
ขอขอบคุณ YLG
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.