ในช่วงนี้เชื่อว่า จุดโฟกัสในตลาดเงินตลาดทุน หนีไม่พ้นการประชุม FOMC ที่จะเริ่มในวันพุธ เพราะผลประชุมที่ออกมา จะส่งผลถึงอนาคตของสินทรัพย์แต่ละตัวในช่วงถัดไป ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาทองในช่วงที่ผ่านมา ก็ดูเหมือนจะขยับ sideway เพื่อรอดูทิศทางนโยบายของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด ) เช่นกัน
ในทางกลับกัน เมื่อราคาทองคำปรับลดลงมา ก็ไม่หลุดแนวรับสำคัญและแนวรับใหญ่ ที่ระดับ 1,760 ดอลลาร์ และ ยังได้ยกฐานแนวรับขึ้นมาอยู่แถว 1,767-1,770 ดอลลาร์ ก่อนที่สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำสามารถปิดเหนือ 1,780 ดอลลาร์ ได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ดี
นายมงคล นิมิตภาคย์ Senior Trader จาก GCAP GOLD กล่าวกับ GoldAround ว่า เมื่อมองในภาพรวม จะเห็นได้ว่า พื้นฐานราคาทองคำเปลี่ยนไป แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะค่อนข้างสูง แต่ราคาทองคำยังไม่สามารถขึ้นไปยืนเหนือ 1,790 ดอลลาร์ ได้
“จะต้องมาดูว่า ผลการประชุม FOMC ในเดือนนี้ จะออกมาอย่างไร หากเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ คือ เฟดปรับเปลี่ยนวงเงินในการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE จาก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อเดือน เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อเดือน และเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น เชื่อว่าจะกดดันราคาทองคำให้ลดลง แต่หากว่าราคาไม่หลุด 1,770 ดอลลาร์ มองว่าอยู่ฝั่งซื้อจะได้เปรียบ ราคามีโอกาสดีดกลับขึ้นมาได้ เพราะตลาดรับข่าวไปเกือบหมดแล้ว และยิ่งหากผลประชุมออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ยิ่งจะหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น และต้องไปลุ้นว่า จะกลับไปยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์ ได้หรือไม่ เพราะถือเป็นแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยา” นักวิเคราะห์ จากบริษัท GCAP จำกัด กล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ มองว่า ในกลุ่มที่ลงทุนระยะกลางหรือยาว รอราคาย่อตัวลงมา ให้ซื้อเก็บสะสมแนว 1,770 ดอลลาร์ แต่หากเป็นกลุ่มเดย์เทรด มองว่ายังเน้นลงทุนสั้น เข้าออกเร็วในกรอบ 1,772-1,788 ดอลลาร์ แต่มองฝั่งขาขึ้นยังได้เปรียบ เช่นเดียวกับราคาทองคำในประเทศ มองว่าที่ระดับ 28,000 28,100 บาท ยังน่าสนใจ เชื่อว่าในช่วง มกราคม น่าจะทำกำไรได้ เพราะได้เรื่องของค่าเงินบาทมาหนุน และยิ่งเป็นกลุ่มลงทุนระยะยาวยิ่งน่าซื้อสะสม เพื่อไปกำไรในอนาคต
อย่างไรก็ดี นายมงคลฯ แนะนำให้จับตาปัจจัยแทรกสำคัญ และอาจจะทำให้ทิศทางราคาเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัส “โอมิครอน” ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศทางยุโรป จนทำให้มีแนวโน้มว่า อาจจะต้องชะลอการลดผ่อนคลายนโยบายการเงินออกไป เพราะหากไวรัสดังกล่าวมีความรุนแรง อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลับมีปัญหาได้ และการขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งเป็นการซ้ำเติม
อย่างไรก็ดี ขณะที่ยังไม่มีการยืนยันว่าความรุนแรงของไวรัสตัวนี้ จะส่งผลต่อร่างกายจะมากน้อยเพียงไร และจะมีวัคซีนที่มีอยู่จะป้องกันได้หรือไม่ มีเพียงแค่คำยืนยันว่าไวรัส “โอมิครอน” สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ขอขอบคุณ GCAP GOLD
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.