จากรายงาน A weekly guidebook from HSH ฮั่วเซ่งเฮง ระบุว่า
การคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของเอเชียจะดีกว่าสหรัฐ และยุโรป จะส่งผลดีต่อทองคำ
สัปดาห์ก่อน ธนาคารกลางหลายแห่งได้มีการประชุมเกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน ซึ่งก็ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00%-5.25% ในการประชุมครั้งนี้ แต่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง
ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% และส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมครั้งต่อไป ส่งผลให้ราคาทองคำมีความผันผวน จากตอนแรกราคาทองคำปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก แต่ดอลลาร์ก็กลับมาอ่อนค่า หนุนราคาทองคำ จากที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้น หลังผลการประชุมของ ECB
ทั้งนี้ การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ 2 ธนาคารกลางใหญ่นั้น สะท้อนมุมมองถึงเงินเฟ้อในยุโรปและสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปจะถูกบั่นทอนจากปัญหาเงินเฟ้อ
ขณะที่ เงินเฟ้อเอเชียนั้น เพิ่มขึ้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของสหรัฐและยุโรป และปัญหาเงินเฟ้อของเอเชียไม่รุนแรงมากนัก และคาดว่าเงินเฟ้อของเอเชียได้แตะจุดสูงสุดแล้ว
ขณะที่ มอร์แกนสแตนลีย์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้อาจจะขยายตัวมากกว่าสหรัฐและยุโรป โดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่นมีแนวโน้มเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ซึ่งทั้ง 3 ประเทศเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชีย
ส่วนจีนนั้น แม้ว่าข้อมูลล่าสุดตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่ออกมานั้นค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้มีการคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนลดลงอยู่ระหว่าง 5.2%-5.7% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 5.7%-6.3% ทำให้จีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเงินเฟ้อจีนก็อยู่ในระดับต่ำ
โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนอุปสงค์ที่อ่อนแอในภาคผู้บริโภคและภาคเอกชน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ซึ่งสถิติความต้องการทองคำที่ผ่านมามักจะเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจจีน หากเศรษฐกิจจีนขยายตัวดีขึ้น ความต้องการทองคำจะมากขึ้น และหากเศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง ความต้องการทองคำจากจีนก็ลดลง เนื่องจากจีนเป็นผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ไตรมาส 2 นี้ความต้องการทองคำในจีนลดลง ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล
นอกจากนี้ การคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเอเชียที่อาจสูงกว่ายุโรปและสหรัฐในปีนี้ อาจส่งผลดีต่อทองคำ เนื่องจากเอเชียมีประเทศที่มีความต้องการทองคำรายใหญ่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ จีนและอินเดีย ซึ่งทองคำมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ
โดยจะเห็นว่าในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลดิวาลีของอินเดีย รวมถึงการแต่งงานของคนอินเดีย มักจะมี gold demand ที่เพิ่มขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง ความเป็นไปได้ของความต้องการทองคำอาจมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอินเดียที่น่าจับตามองอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตในทุก ๆ ด้านที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าอินเดียอาจจะแซงจีนในทุกด้านอีกไม่ช้า
อย่างไรก็ตาม gold demand ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2565 ซึ่งมาจาก demand ด้านการทำเครื่องประดับ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี การลงทุนที่ลดลง ขณะที่การบริโภคอัญมณีทั่วโลกเพิ่มขึ้น
ซึ่งส่วนใหญ่มาจากด้านฝั่งประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นกว่า 11% ในไตรมาส 1/2566 ขณะที่อินเดียลดลงกว่า 17% ในไตรมาส 1/2566 ส่วนหนึ่งมาจากราคาทองคำในสกุลท้องถิ่นสูงขึ้น รวมถึงความต้องการทองคำแท่งและเหรียญก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 1/2566
จีนมีความต้องการทองคำแท่งและเหรียญเพิ่มขึ้กว่า 34% ขณะที่อินเดียลดลงกว่า 17% นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเข้าสะสมทองคำเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้กว่า 228.4 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 176% ที่ 82.7 ตันในไตรมาสแรกปี 2565
แนวโน้มราคาทองคำในช่วงต้นสัปดาห์คาดเคลื่อนไหว Sideways up หลังจากเริ่มมีสัญญาณซื้อจาก Modified stochastic ในวันพฤหัสก่อน ระยะสั้นทองคำมีแนวต้านที่ 1,970 ดอลลาร์ แต่คาดว่าจะมีแรงเทขายออกมา แต่ถ้าผ่านขึ้นไปได้จะมีแนวต้านสำคัญที่ 1,983 ดอลลาร์
ส่วนสัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยการอนุญาตก่อสร้างบ้านและการเริ่มก่อสร้างบ้านเดือน พ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจเดือน พ.ค. โดย conference Board ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน มิ.ย. และดัชนี PMI ภาคบริการเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ติดตามการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของประธานสภาต่อสภาคองเกรส
สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่ 1,940 ดอลลาร์ และ 1,930 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,970 ดอลลาร์ และแนวต้าน 1,983 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 32,000 บาท และ 31,900 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 32,400 บาท และ 32,500 บาท
ความต้องการทองคำในไตรมาสที่ 1 ปี 2566
ที่มา www.gold.org
ปัจจัยที่จะมีผลทำให้ราคาทองคำ ขึ้น-ลง
Gold Bullish
ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตภาคธนาคาร
Gold Bearish
การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไป
ที่มา : ฮั่วเซ่งเฮง
Comments are closed.