Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 23 ก.ย.65 by YLG

- Advertisement -

422

- Advertisement -

คำแนะนำ       เปิดสถานะขาย $1,687-1,705

จุดทำกำไร    ซื้อคืนเพื่อทำกำไร $1,653-1,632

ตัดขาดทุน     ตัดขาดทุนสถานะขายหากผ่าน $1,705

แนวรับ : 1,653 1,632 1,612  แนวต้าน : 1,687 1,705 1,723

สรุป

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 2.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,655.68 ดอลลาร์ต่อออนซ์โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีดอลลาร์ที่พุ่งขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ที่ 111.81 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำค่อยๆฟื้นตัวขึ้นหลังจากนั้นจากแรงซื้อ Buy the dip ก่อนที่ราคาทองคำจะพุ่งขึ้นแรงหลังญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1998 เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลง นั่นทำให้สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเกือบ 4% เป็น 140.31 ต่อดอลลาร์จาก 145.81 ในเวลาเพียง 40 นาที ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันดัชนีดอลลาร์ให้ร่วงลงจากระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 110.46

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,684.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เป็นอีกครั้งที่ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไร และแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก หลังจากธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกได้ยกระดับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 350 bps ในสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สวีเดน อังกฤษ สวิสฯ และนอร์เวย์ เป็นต้น

สถานการณ์ดังกล่าวหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกให้พุ่งขึ้นจนเป็นปัจจัยกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -2.03 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ

ข่าวสารประกอบการลงทุน

- Advertisement -

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 107.10 จุด วิตกเฟดเร่งขึ้นดบ.ฉุดเศรษฐกิจ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,076.68 จุด ลดลง 107.10 จุด หรือ -0.35%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,757.99 จุด ลดลง 31.94 จุด หรือ -0.84% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,066.81 จุด ลดลง 153.39 จุด หรือ -1.37%
  • (+) Conference Board เผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 6 Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวลง 0.3% ในเดือนส.ค. หลังจากร่วงลง 0.5% ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน
  • (+) ทำเนียบเครมลินไม่ค้านม็อบต้านระดมพลเจอหมายเกณฑ์ทหาร นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ไม่ปฏิเสธต่อรายงานที่ว่า ชาวรัสเซียที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการประกาศระดมพลของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ถูกตำรวจจับกุม พร้อมกับถูกหมายเรียกให้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร “สิ่งนี้ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด” นายเพสคอฟกล่าว
  • (-) ปอนด์อ่อนค่า ตลาดผิดหวัง BoE ขึ้นดบ.เพียง 0.50% เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อนักลงทุนบางส่วนที่คาดว่า BoE จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ขณะที่ดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนถึงปี 2566 ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.64% แตะที่ระดับ 111.3520 เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1251 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1354 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.9833 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9911 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6640 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6702 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 142.41 เยน จากระดับ 143.57 เยน แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9787 ฟรังก์ จากระดับ 0.9627 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3492 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3369 ดอลลาร์แคนาดา
  • (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 2 ปี พุ่งทะลุ 4.1% ขานรับผลประชุมเฟด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พุ่งขึ้นเหนือระดับ 4.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี ณ เวลา 00.05 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.12% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.688% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.623% การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
  • (-) คาดเฟดขึ้นดบ. 0.75% เดือนพ.ย., 0.50% เดือนธ.ค. หลังถอดรหัสถ้อยแถลง “พาวเวล” นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือในปีนี้ หลังถอดสัญญาณจาก Dot Plot และถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในการประชุมวานนี้ ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย. และปรับขึ้นอีก 0.50% ในเดือนธ.ค. ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนัก 66.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.
  • (-) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาดสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 5,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 218,000 ราย
  • (+/-) *BoE เสียงแตกขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 นอกจากนี้ BoE ส่งสัญญาณว่าจะยังคงคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ   อย่างไรก็ดี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) มีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ โดยกรรมการ 5 รายลงมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ 3 รายลงมติให้ปรับขึ้น 0.75% และ 1 รายให้ปรับขึ้น 0.25%

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More