Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 12 ต.ค.65 by YLG

- Advertisement -

195

- Advertisement -

คำแนะนำ       เปิดสถานะขาย $1,688

จุดทำกำไร    ซื้อคืนเพื่อทำกำไร $1,657-1,647

ตัดขาดทุน     ตัดขาดทุนสถานะขายหากผ่าน $1,688

แนวรับ : 1,647 1,631 1,614  แนวต้าน : 1,688 1,711 1,735

สรุป

- Advertisement -

ราคาทองคำปิดปรับตัวลดลง -1.65 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบกว้าง โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดัชนีดอลลาร์ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ประกอบกับเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงจากความวิตกเกี่ยวกับการการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์บริเวณ 1,660.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงตลาดสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการพักตัวในทางเทคนิคของดัชนีดอลลาร์ ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำดีดตัวขึ้นกว่า 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากระดับต่ำสุดสู่ระดับสูงสุดบริเวณ 1,683.83 ดอลลาร์ต่อออนซ์

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไร นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากดัชนีดอลลาร์ที่ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุด โดยได้รับแรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังนายแอนดรูว์ เบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) ประกาศว่าจะยุติโครงการสนับสนุนตลาดพันธบัตรในวันศุกร์นี้ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกว่าอาจจุดชนวนความผันผวนของตลาดทั่วโลกอีกครั้งซึ่งกระตุ้นแรงซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

อีกทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะ 4.006% จากข่าวข้างต้น บวกกับการคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงปิดตลาดในแดนลบในที่สุด ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และรายงานการประชุม FOMC Meeting Minutes ประจำวันที่ 20-21 ก.ย.

ข่าวสารประกอบการลงทุน

- Advertisement -

  • (+) IMF หั่นคาดการณ์ GDP โลกปีหน้าสู่ระดับ 2.7% ขณะเตือนเศรษฐกิจถดถอย  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ในวันนี้ โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.7% จากเดิมที่ระดับ 2.9% “ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า” รายงานระบุ   IMF ระบุว่ารายงานดังกล่าวเป็นการบ่งชี้การขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19   อย่างไรก็ดี IMF ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ที่ระดับ 3.2%   รายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีนจะชะลอตัวลง
  • (+) G7 ประณามรัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มเป้าหมายพลเรือนในยูเครน กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียที่ได้ยิงขีปนาวุธถล่มเป้าหมายพลเรือนในยูเครน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินและพวกจะต้องรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมสงครามดังกล่าว โดย G7 ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนยูเครนในการรักษาอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน” แถลงการณ์ระบุ
  • (+) เฟดเผยผลสำรวจชี้ผู้บริโภคลดคาดการณ์เงินเฟ้อช่วง 1 ปีข้างหน้า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าได้ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในเดือนก.ย. ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าในช่วง 1 ปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2564   
  • (-) น้ำมัน WTI ปิดร่วง $1.78 หวั่นศก.ถดถอยฉุดดีมานด์น้ำมัน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร (11 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีน ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.78 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 89.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.9 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 94.29 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • (-) เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ใน Q3/65 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 3 เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 14 ต.ค. ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
  • (-) สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจขนาดย่อมสูงกว่าคาดในเดือนก.ย. สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงในวันนี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.1 ในเดือนก.ย. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 91.8
  • (-) ดอลล์แข็งค่าเล็กน้อย นักลงทุนรอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (11 ต.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.06% แตะที่ระดับ 113.2150  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9712 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9706 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1025 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1058 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6267 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6298 ดอลลาร์สหรัฐ   ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 145.85 เยน จากระดับ 145.67 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3812 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3758 ดอลลาร์แคนาดา
  • (+/-) ดาวโจนส์ปิดบวกเพียง 36.31 จุด กังวลศก.ถดถอย-จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยในวันอังคาร (11 ต.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนลบ ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งสัญญาณยุติการพยุงตลาดพันธบัตร ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,239.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.31 จุด หรือ +0.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,588.84 จุด ลดลง 23.55 จุด หรือ -0.65% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,426.19 จุด ลดลง 115.91 จุด หรือ -1.10%

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More