Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 1 ก.ย.65 by YLG

- Advertisement -

209

- Advertisement -

คำแนะนำ       เปิดสถานะซื้อ $1,693-1,676

จุดทำกำไร    ขายเพื่อทำกำไร $1,720-1,737

ตัดขาดทุน     ตัดขาดทุนสถานะซื้อหากหลุด $1,676

แนวรับ : 1,693 1,676 1,658  แนวต้าน : 1,720 1,737 1,755

สรุป

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดลดลง 12.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันสำคัญจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ก่อนที่จะ “คง” ดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปีหน้าโดย “ไม่รีบเร่ง” ในการปรับ “ลด” อัตราดอกเบี้ย และอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันทองคำเมื่อวานนี้ คือ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 1997 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.0%

สถานการณ์ดังกล่าว ดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 1.584% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีพุ่งขึ้นเหนือ 3.5% สู่ระดับสูงสุดระดับ 15 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งทดสอบ 3.2% จนกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยอย่างหนัก

แม้การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐจา ก ADP จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดเพียง 300,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. แต่การดีดตัวของทองคำเป็นไปอย่างจำกัด พร้อมกับเกิดแรงขายสลับออกมาจนส่งผลให้ทองคำปิดตลาดในเดือนส.ค.ด้วยการปรับตัวลง -3.13% และปิดลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2018 และปรับตัวลงต่อในช่วงเช้าของวันนี้ในตลาดเอเชียและเพิ่งทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์บริเวณ 1,702 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -2.89 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน, ประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วยและประสิทธิภาพต้นทุนแรงงานต่อหน่วย, ดัชนี PMI ภาคการผลิตจาก ISM และข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐ

ข่าวสารประกอบการลงทุน

- Advertisement -

  • (+) ไต้หวันขู่ตอบโต้ทันที! หากกองทัพจีนล่วงล้ำดินแดน ไต้หวันประกาศในวันพุธว่า จะใช้สิทธิในการปกป้องตนเองและจะโจมตีตอบโต้หากกองทัพจีนล่วงล้ำดินแดนของไต้หวัน ในขณะที่จีนเพิ่มกิจกรรมทางทหารรอบเกาะไต้หวันในช่วงที่ผ่านมาหลังการเยือนของ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่กลาโหมไต้หวันกล่าวว่า การลาดตระเวนทางทหาร “อย่างเข้มข้น” ของจีนบริเวณเกาะไต้หวันยังคงดำเนินต่อไป พร้อมชี้ว่า จีนพยายามที่จะทำให้ช่องแคบไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “ทะเลใน” ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของความไร้เสถียรภาพในภูมิภาคนี้ หลิน เหวิน-ฮวง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพไต้หวัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “กองทัพไต้หวันจะใช้สิทธิในการป้องกันตนเองและตอบโต้โดยไม่มีข้อยกเว้น สำหรับเครื่องบินหรือเรือลำใดก็ตามที่ล่วงล้ำเข้ามาในเขต 12 ไมล์ทะเลของไต้หวันทั้งทางทะเลและอากาศ”
  • (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 280.44 จุด วิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพุธ (31 ส.ค.) โดยดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีปิดในแดนลบติดต่อกัน 4 วันทำการ และทำสถิติเดือนส.ค.ที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 7 ปี เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,510.43 จุด ร่วงลง 280.44 จุด หรือ -0.88%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,955.00 จุด ลดลง 31.16 จุด หรือ -0.78% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,816.20 จุด ลดลง 66.93 จุด หรือ -0.56%
  • (+) ADP เผยการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐต่ำกว่าคาดในเดือนส.ค. ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 132,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 270,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ภาคบริการมีการจ้างงาน 110,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงาน 22,000 ตำแหน่ง
  • (-) ยูโรโซนเผยเงินเฟ้อพุ่งนิวไฮแตะ 9.1% ในเดือนส.ค. สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.0% จากระดับ 8.9% ในเดือนก.ค. นอกจากนี้ ดัชนี CPI ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้ที่ระดับ 2%
  • (-) ปอนด์อ่อนค่าเทียบดอลล์ วิตกเศรษฐกิจอังกฤษถดถอย เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (31 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอังกฤษ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.07% แตะที่ระดับ 108.6980 เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1617 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1658 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.0046 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0024 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6849 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6857 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 138.74 เยน จากระดับ 138.67 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9762 ฟรังก์ จากระดับ 0.9736 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3122 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3101 ดอลลาร์แคนาดา
  • (-) ประธานเฟดคลีฟแลนด์หนุนดันดอกเบี้ยเหนือ 4%, คาดเฟดไม่ลดดอกเบี้ยปีหน้า นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ก่อนที่จะสามารถผ่อนคลายมาตรการในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ นางเมสเตอร์ระบุว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้อยู่เหนือระดับ 4% ภายในต้นปี 2566 และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ นางเมสเตอร์ระบุว่าเฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
  • (+/-) คาดสหรัฐเผยจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่ม 300,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ในวันศุกร์นี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 300,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 528,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค.
  • (+/-) นักวิเคราะห์ฟันธง ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สัปดาห์หน้า หลังเงินเฟ้อพุ่งนิวไฮ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 8 ก.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ “เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจะกดดันอุปสงค์ ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยในฤดูหนาวนี้” นายริคคาร์โด มาร์เซลลี ฟาบิอานี นักวิเคราะห์จากออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์ กล่าว

ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More