Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ 29 มี.ค.64 (YLG)

- Advertisement -

305

- Advertisement -

คำแนะนำ :

เข้าซื้อขายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว โดยเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,721-1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ และทยอยปิดสถานะทำกำไรหากไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,736-1,745 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,717 1,707 1,690 แนวต้าน : 1,745 1,759 1,776

สรุป

ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.15 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบแคบโดยมีระดับสูงสุดบริเวณ 1,736.75  ดอลลาร์ต่อออนซ์  และมีระดับต่ำสุดบริเวณ 1,721.64  ดอลลาร์ต่อออนซ์  ทั้งนี้  ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากดัชนีดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในวันศุกร์  หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นไปตามคาดและอ่อนแอเกินคาด  อาทิ  ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.ตามคาด  แต่ข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ กลับลดลงถึง 1.0% ในเดือนก.พ.ซึ่งแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้  ในขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีกลับพุ่งขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 96.6 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2019 จึงเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินยูโรให้ฟื้นตัวขึ้นจนเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์เพิ่มเติม  ดังนั้น  การอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยหนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัว  อย่างไรก็ดี  ดัชนีดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวไม่ไกลจากจุดสูงสุดในรอบ 4 เดือน  เพราะโดยรวมแล้วตลาดยังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ  ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้นต่อเนื่องเห็นได้จากดัชนีดาวโจนส์ที่ปิดเพิ่มขึ้น 453.40 จุด  จึงเป็นปัจจัยบั่นทอนความน่าสนใจลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย  ประกอบกับกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -6.41 ตัน  สู่ระดับ 1,036.62 ตัน ทำให้ในปี 2021 กองทุน SPDR ถือครองทองลดลงแล้วถึง -134.12 ตัน  นั่นทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังเป็นไปอย่างจำกัด  สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ  แต่อาจติดตามถ้อยแถลงของนายคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟด

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เตือนรัสเซียจะต้องรับผิดชอบจากการกระทำที่มุ่งร้ายต่อสหรัฐฯ  นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่ามีสิ่งที่รัสเซียจะต้องรับผิดชอบและผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการที่มอสโกถูกระบุว่ามีกิจกรรมมุ่งร้ายต่อสหรัฐฯ โดยเจ้ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการในเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนในเวลาอันเหมาะสมที่สหรัฐฯเป็นผู้เลือก  คำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ว่านี้มีขึ้นระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ CNN ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ในวันอาทิตย์ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ เสร็จสิ้นการหารือกับนักการทูตของประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ที่กรุงบรัสเซลแล้ว  โดยนายแอนโทนี บลิงเคนยังกล่าวด้วยว่ามีความมุ่งมั่นผูกพันร่วมกันในกลุ่มประเทศพันธมิตรของโลกตะวันตกที่จะอยู่ในสภาวะที่ตาสว่างเกี่ยวกับการกระทำของมอสโก และทำให้รัฐบาลรัสเซียที่ทำเนียบเครมลินต้องรับผิดชอบในเรื่องเหล่านี้ด้วย  โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังกล่าวด้วยว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะมีการใช้มาตรการลงโทษใดหรือจะมีการดำเนินการใดๆ ที่วอชิงตันจะนำไปใช้กับมอสโกจากการหารือกับประเทศสมาชิกขององค์การนาโต้  ในขณะที่สหรัฐกับรัสเซียเห็นพ้องกันว่าควรจะยืดอายุข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงออกไปนั้น วอชิงตันก็ได้กล่าวโทษมอสโกสำหรับเรื่องอื่นๆ นับตั้งแต่การตั้งรางวัลค่าหัวสำหรับการสังหารทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน การที่รัสเซียก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด และการเจาะล้วงระบบคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ เป็นต้น
  • (+) ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก ถูกกดดันหลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจ  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายดอลลาร์ หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่เป็นไปตามคาดและอ่อนแอเกินคาด  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.02% แตะที่ 92.7704 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.68 เยน จากระดับ 109.10 เยน, ดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9390 ฟรังก์ และดอลลาร์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2594 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2610 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1789 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1778 ดอลลาร์, ปอนด์แข็งค่าแตะระดับ 1.3783 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3742 ดอลลาร์
  • (+) Ifo เผยความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีสูงสุดในรอบกว่าปีครึ่ง  Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 96.6 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2562 จากระดับ 92.7 ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
  • (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 453.40 จุด ขานรับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (26 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการทะยานขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี, กลุ่มเฮลธ์แคร์ และกลุ่มการเงิน เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,072.88 จุด เพิ่มขึ้น 453.40 จุด หรือ +1.39%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,974.54 จุด เพิ่มขึ้น 65.02 จุด หรือ +1.66% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,138.73 จุด เพิ่มขึ้น 161.05 จุด หรือ +1.24%
  • (-) ผลสำรวจม.มิชิแกนชี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐแตะระดับสูงสุดนับแต่โควิดระบาด  ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 84.9 ในช่วงปลายเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี จากระดับ 83 ในการสำรวจเบื้องต้นเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 83.6
  • (-) วิจัยสหรัฐชี้วัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพในหญิงตั้งครรภ์-ให้นมบุตร  สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาอเมริกัน (AJOG) เมื่อวานนี้ ระบุว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สร้างภูมิคุ้มกันแบบสารน้ำ (humoral immunity) ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรได้
  • (+/-) ผู้บริโภคสหรัฐใช้จ่ายลดเกินคาด 1.0% ในเดือนก.พ. เหตุอากาศเย็นกระทบ  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐลดลงเกินคาดในเดือนก.พ. อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในหลายพื้นที่ของประเทศ และแรงหนุนที่ลดลงชั่วคราวจากการจ่ายเช็ครอบสองให้กับครัวเรือนสหรัฐที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐนั้น ลดลง 1.0% ในเดือนก.พ. หลังจากดีดตัวขึ้น 3.4% ในเดือนม.ค.  สำหรับรายได้ส่วนบุคคลนั้น ร่วงลง 7.1% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 10.1% ในเดือนม.ค.  ส่วนบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดไว้ว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐอาจลดลง 0.7% ในเดือนก.พ. และรายได้ส่วนบุคคล อาจร่วงลง 7.3%

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More