เน้นเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่นักลงทุนที่มีสถานะจำนวนมากควรพิจารณาถึงความเสี่ยง แม้ว่าราคาจะมีมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นแต่ราคามีการปรับขึ้นมาแล้วในระดับหนึ่งและหลายครั้งมีแรงขายทำกำไรสลับออกมาจนราคาผันผวน
แนวรับ : 1,950 1,934 1,916 แนวต้าน : 1,988 2,006 2,029
สรุป ราคาทองคำในวันศุกร์ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 36.38 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ +1.88% พร้อมกับปิดตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาในแดนบวกเป็นสัปดาห์แรกหลังจากปิดตลาดในแดนลบ 2 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1.) การแข็งค่าของค่าเงินเยน หลังการประกาศลาออกจากตำแหน่งของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งก่อให้ความกังวลว่ารัฐบาลญี่ปุ่นชุดใหม่อาจยุติการใช้นโยบาย”อาเบะโนมิกส์” หลังสิ้นสุดยุคการบริหารประเทศของนายอาเบะ ซึ่งจะส่งผลให้เยนมีทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อไป และ (2) การอ่อนค่าของดอลลาร์ที่เกิดจากข่าวเดิม คือ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปลี่ยนแปลงกรอบนโยบายเงินเฟ้อไปเป็น “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย หรือ หรือ Average-inflation targeting(AIT)” ซึ่งเท่ากับว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน พร้อมกับเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นเหนือ 2% ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง -0.68% ในวันศุกร์จนส่งผลหนุนราคาทองคำให้พุ่งกว่า 50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากระดับต่ำสุดในระหว่างวันที่ 1,922.68 ดอลลาร์ต่อออนซ์ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,973.82 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ แต่อาจติดตามแถลงการณ์ของนายริชาร์ด แคลริดา รองประธานเฟด และนายราฟาเอล บอสติค ประธาน เฟดสาขาแอตแลนตา เพื่อประกอบการลงทุน
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดอลล์อ่อนเทียบเยน หลังนายกฯญี่ปุ่นประกาศลาออก ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 ส.ค.) ขณะที่เยนแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเยนในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความระมัดระวังในการซื้อขายหลังจากนายชินโซ อาเบะ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานานด้วย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.69% แตะที่ 92.3711 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.41 เยน จากระดับ 106.61 เยน, เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าสู่ระดับ 0.9050 ฟรังก์ จากระดับ 0.9087 ฟรังก์ และดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3094 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3128 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1890 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1821 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3341 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3204 ดอลลาร์
- (+) สื่อนอกเผยจีนอัพเดทระเบียบส่งออกเทคโนโลยี คาดกระทบดีลขายกิจการ TikTok ในสหรัฐ สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานโดยอ้างข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลและเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า จีนได้มีการปรับปรุงระเบียบควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีซึ่งอาจมีแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นยอดนิยมของจีนอย่างติ๊กต็อก (TikTok) รวมอยู่ด้วย รายงานข่าวดังกล่าวมีขึ้น หลังก่อนหน้านี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างความคิดเห็นของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งว่า ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของติ๊กต็อก อาจต้องขอให้รัฐบาลจีนยินยอมก่อนที่จะขายธุรกิจของติ๊กต็อกในสหรัฐ โดยบริษัทอาจต้องระงับการเจรจาขายธุรกิจไปก่อน การที่รัฐบาลจีนรวมติ๊กต็อกเข้าไปในระเบียบควบคุมการส่งออกนั้น คาดว่าจะทำให้รัฐบาลจีนแทรกแซงการขายกิจการของติ๊กต็อกในสหรัฐได้
- (+) ปธ.เฟดคลีฟแลนด์ชี้เฟดต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เหตุการฟื้นตัวยังคงอ่อนแอ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นการฟื้นตัวที่เชื่องช้า “การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” นางเมสเตอร์กล่าว นางเมสเตอร์ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ที่มีการเปิดเศรษฐกิจครั้งใหม่
- (+) ปธ.เฟดฟิลาเดลเฟียชี้ต้องใช้เวลากว่าที่ตัวเลขว่างงานกลับสู่ระดับก่อนโควิด นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่จะให้ตัวเลขคนว่างงานกลับสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เหมือนในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง “ตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวขึ้น แต่เราก็มีคนว่างงานมากถึง 27 ล้านคน ทำให้เรายังไม่สามารถกลับไปสู่ภาวะการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพเหมือนกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ โดยเราต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” นายฮาร์เกอร์กล่าว “เราใช้เวลา 2 ปีในการลดอัตราว่างงานจาก 5% สู่ 4% และใช้เวลาอีก 1 ปีครึ่งในการลดจาก 4% สู่ 3.5%” เขากล่าว นายฮาร์เกอร์ยังกล่าวว่า เขาสามารถยอมรับได้ต่อการที่เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 3% ตราบใดที่เป็นการปรับตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
- (+) สหรัฐเผยดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานดีดตัวขึ้น 1.3% ในเดือนก.ค.
- (-) สหรัฐเผยการใช้จ่ายผู้บริโภคเพิ่มมากกว่าคาดในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% หลังจากพุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนมิ.ย.
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 161.60 จุด ขณะ S&P500-Nasdaq ทำนิวไฮต่อเนื่อง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีเกินคาด และหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,653.87 จุด เพิ่มขึ้น 161.60 จุด หรือ +0.57%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,508.01 จุด เพิ่มขึ้น 23.46 จุด หรือ +0.67% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,695.63 จุด เพิ่มขึ้น 70.30 จุด หรือ +0.60%
ขอขอบคุณ: บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)