Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำวันนี้ 23 ธ.ค.63 (YLG)

- Advertisement -

270

- Advertisement -

คำแนะนำ :

ราคาพยายามขึ้นทดสอบแนวต้านโซนที่ 1,884-1,889 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนไม่ได้อาจเกิดแรงขายทำกำไรระยะสั้นออกมาอีกครั้ง เมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลงมีแนวรับบริเวณ 1,858-1,855 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,855 1,839 1,826  แนวต้าน : 1,889 1,907 1,921

สรุป

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลงอีก 16.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลกดดันราคาทองคำยังเป็นการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เช่นเดิม  ทั้งนี้  นักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย  จากความวิตกว่าการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธ์ใหม่ในอังกฤษจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก  นอกจากนี้ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์จากความวิตกที่ว่า อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไม่มีการทำข้อตกลง (No-deal Brexit) หลังจากวานนี้  นายมิเชล บาร์นิเยร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) กล่าวต่อตัวแทนทั้ง 27 ชาติของ EU ว่า ข้อเสนอของอังกฤษเกี่ยวกับการประมงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้  สะท้อนความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี  นั่นทำให้ความเสี่ยงของ No-deal Brexit เพิ่มขึ้นก่อนที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้  สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น  +0.51% จนเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,858.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขายของวานนี้  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -2.33 ตัน  สำหรับวันนี้  แนะนำติดตามความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐ  หลังจากเช้านี้  ประธานาธิบดีทรัมป์ เปิดเผยว่า เขาต้องการให้สภาคองเกรสแก้ไขเนื้อหาในร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์  พร้อมติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ของไทย  รวมการเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน, ดัชนีการใช้จ่ายส่วนบุคคล (PCE), การใช้จ่ายส่วนบุคคล และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 200.94 จุด วิตกไวรัสกลายพันธุ์-ข้อมูลศก.ซบเซา  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (22 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยปัจจัยลบเหล่านี้ได้บดบังข่าวดีจากการที่สภาคองเกรสสหรัฐบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,015.51 จุด ลดลง 200.94 จุด หรือ -0.67% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,687.26 จุด ลดลง 7.66 จุด หรือ -0.21% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,807.92 จุด เพิ่มขึ้น 65.40 จุด หรือ +0.51%
  • (+) EU เผยพร้อมขยายเวลาเจรจา Brexit กับอังกฤษต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า  แหล่งข่าวจากนักการทูตของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า EU พร้อมที่จะขยายเวลาเจรจาการค้ากับอังกฤษต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า  “การเจรจามีความคืบหน้า โดยอังกฤษและ EU สามารถบรรลุข้อตกลงในประเด็นส่วนใหญ่ ยกเว้นในเรื่องประมงที่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งกัน แต่ EU ยังไม่ปิดประตูเจรจากับอังกฤษ และจะยังคงทำการเจรจาเลยวันที่ 1 ม.ค.” นักการทูตรายหนึ่งกล่าว
  • (+) Conference Board เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐต่ำกว่าคาดในธ.ค.  ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 88.6 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 92.9 ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 97.0
  • (+) สหรัฐเผยยอดขายบ้านมือสองลดลงในพ.ย. หลังเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน  สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลง หลังจากเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน โดยร่วงลง 2.5% สู่ระดับ 6.69 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย. หลังจากแตะระดับ 6.85 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.
  • (-) EU พูดชัด ไม่รับข้อเสนอ Brexit ของอังกฤษ  นายมิเชล บาร์นิเยร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) กล่าวต่อตัวแทนทั้ง 27 ชาติของ EU ในวันนี้ว่า ข้อเสนอของอังกฤษเกี่ยวกับการประมงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้  ก่อนหน้านี้ นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า EU กำลังใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายในการบรรลุข้อตกลงการค้ากับอังกฤษที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU (Brexit) 
  • (-) สหรัฐเผย GDP Q3/63 พุ่ง 33.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นประมาณการครั้งสุดท้าย สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 33.1%  นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 5% ในไตรมาส 4
  • (-) ดอลล์แข็งค่า วิตกไวรัสกลายพันธุ์หนุนนลท.รุกซื้อสกุลเงินปลอดภัย  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่สภาคองเกรสสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% แตะที่ 90.6500 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.68 เยน จากระดับ 103.34 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8901 ฟรังก์ จากระดับ 0.8846 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2902 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2829 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2160 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2249 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3353 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3460 ดอลลาร์
  • (+/-) “ทรัมป์” ยังไม่ยอมลงนามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-เรียกร้องสภาแก้ไขเนื้อหา  ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐเปิดเผยว่า เขาต้องการให้สภาคองเกรสแก้ไขเนื้อหาในร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปธน.ทรัมป์ต้องการให้เพิ่มจำนวนเงินในเช็คเงินสดที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และให้ยกเลิกการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  ปธน.ทรัมป์เปิดเผยผ่านทางวิดีโอที่โพสต์บนทวิตเตอร์ว่า “ร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ได้ส่งมาถึงผมแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่คาดไว้ เป็นเรื่องที่น่าอับอายจริงๆ” อย่างไรก็ดี ปธน.ทรัมป์ไม่ได้ขู่ว่าจะใช้สิทธิ์วีโต้ร่างมาตรการฉบับนี้

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More