Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

ถอดบทเรียนทิศทางราคาทองคำ ก่อน FED จะตัดสินใจลด QE

- Advertisement -

484

- Advertisement -

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาทองคำลดลงอย่างแรงในช่วงนี้ คือ ความกังวลของตลาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะประกาศลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์รายเดือนตามมาตรการ QE อย่างเป็นทางการ

ในการประชุมนโยบายประชุมจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน สิงหาคม นี้ ก่อนที่คาดว่าจะเริ่มต้นดำเนินการลด QE ภายในสิ้นปี 2021 หรือ ต้นปี 2022 หนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น

นอกจากนี้ยังหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ให้ดีดตัวสู่ระดับ 1.30% จนเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ

คุณ ฐิภา นววัฒนทรัพย์

คุณ ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG กล่าวกับ GoldAround.com ว่า จากสถิติในอดีต เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2009-2011 และช่วงปี 2020

- Advertisement -

ขณะที่ ในช่วงที่เฟดยุติการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงิน ก็ส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2013-2018

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม

ย้อนรอยการเคลื่อนไหวของตลาดทองคำรับ QE Tapering ในปี 2013

คุณ ฐิภาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป ย่อมจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อราคาทองคำ แต่ราคาทองคำไม่ได้เคลื่อนไหวตามนโยบายการเงินของ เฟด เพียงปัจจัยเดียว

ดังนั้น ราคาทองคำจะปรับตัวลงมากเท่าใด และจะสามารถต้านต่อปัจจัยกดดันนี้ได้หรือไม่ อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย

- Advertisement -

มาดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2013

เมื่อ นายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในขณะนั้น ได้แถลงต่อสภาคองเกรสว่า เฟดอาจลดวงเงิน QE ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงจนแตะระดับต่ำสุดของปี 2013 ที่ 1,180 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ ในวันที่ 28 พฤษภาคม โดยลดลงถึง 195 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากราคาปิดของวันก่อนหน้าที่นายเบอร์นันเก้เริ่มส่งสัญญาณถึงการลด QE ครั้งแรก

จากนั้นราคาทองคำได้ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในเดือน พ.ค. 2013 ไปแตะระดับสูงสุดในวันที่ 28 ส.ค. ที่ 1,433 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดถึง 253 ดอลลาร์

ขณะที่ การประชุมนโยบายการเงินของเฟดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2013 นายเบอร์นันเก้ ระบุว่า มาตรการ QE ยังคงมีผลบังคับใช้ และยังกล่าวด้วยว่านโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เขาคาดว่าแนวโน้มเชิงบวกนี้จะกระตุ้นให้เฟดเริ่มลดระดับ QE ก่อนสิ้นปี 2013 โดยโปรแกรมจะสิ้นสุดในปี 2014 ทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ ตลาดจึงคาดว่าการลด QE อาจจะเกิดขึ้นในการประชุมของเฟด ในวันที่ 18 ก.ย. ปีเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เฟดได้สร้างความประหลาดใจ โดยเลือกที่จะคงวงเงิน QE ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ตามเดิม ซึ่งส่งผลให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นบ้างในช่วงหลังการประชุม

อย่างไรก็ดี ราคาทองคำค่อย ๆ ปรับตัวลดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยในเดือน ธันวาคม เศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแกร่งพอที่จะทำให้เฟดจะรู้สึกมั่นใจในการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำให้ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 18 ธันวาคม เฟด ได้ประกาศลด QE ลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เหลือ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ต่อเดือน และเริ่มดำเนินการในเดือน ม.ค. ปี 2014 จนกระทั่งมาตรการ QE ยุติลงในเดือน ต.ค. ปี 2014

“หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ราคาทองคำปิดตลาดในปี 2013 ที่ 1,205 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลงราว 165 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ จากราคาปิดของวันที่เฟดเริ่มส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ครั้งแรก แต่ถือว่าปิดตลาดในระดับที่สูงกว่าระดับต่ำสุดราว 25 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ และปิดตลาดในปี 2013 ด้วยการปรับตัวลดลงมากถึง 469.44 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ หรือ -28%” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG กล่าว

อย่างไรก็ดี การลดลงของราคาทองคำในปีดังกล่าว ไม่ใช่จากประเด็นเฟดเรื่องเดียว โดยราคาทองคำปรับตัวลงแรงในช่วงเดือน เม.ย. จากข่าวที่รัฐบาลไซปรัสเทขายทองคำในคลังสำรอง เพื่อระดมทุนให้ได้ 400 ล้านยูโร เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขขอรับเงินกู้จากนานาชาติมูลค่า 1 หมื่นล้านยูโร จนก่อให้เกิดความวิตกว่า ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป จะเทขายทองคำเช่นเดียวกับไซปรัส

ดังนั้น หากใช้สถิติในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้คาดการณ์ก่อนการประชุมใหญ่ เฟดในช่วงปลายเดือนนี้ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้

1. ราคาทองคำจะตอบสนองในเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดมากที่สุดในช่วงก่อนการดำเนินการจริง ทำให้ในระยะถัดจากนี้ ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวลงต่อรับแนวโน้มการปรับลด QE ของเฟดในอนาคต โดยมีโอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงทำระดับต่ำสุดของปีนี้ครั้งใหม่ บริเวณ 1,662 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าปรับตัวลงในระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2013

ก่อนที่ราคาทองคำจะเริ่ม Price in การคาดการณ์ดังกล่าว และมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นหลังจากนั้น โดยมีโอกาสขึ้นทดสอบบริเวณ 1,915 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นตัวขึ้นในระดับเดียวกันกับปี 2013 เช่นกัน ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอีกครั้ง ในห้วงเวลาที่เฟดประกาศอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการปรับลด QE

2. ราคายังปรับตัวลงต่อในช่วงที่เฟดเริ่มลด QE ครั้งแรก ไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก แต่การตอบสนองเชิงลบไม่มากเท่าระยะแรก โดยราคาปรับตัวลงทำระดับต่ำสุดในเดือนที่เฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก และในห้วงเวลาที่เฟดเริ่มต้นลด QE ไปจนกระทั่งยุติ QE และขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก จะเป็นช่วงเวลาที่ราคามีโอกาสปรับตัวลงต่ออีกครั้ง แต่ไม่มากเท่าในช่วงที่ตลาดเริ่มปรับตัวรับการคาดการณ์

จะเห็นได้จากในปี 2014 ราคาทองคำปรับตัวลดลง 122 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวจากระดับสูงสุดไปสู่ระดับต่ำสุด

3. ราคาทองคำเริ่มยกฐานของราคานับตั้งแต่เฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ธ.ค. ปี 2015 ดังนั้น หาก History repeats itself ราคาทองคำในสิ้นปีนี้ อาจมีโอกาสปิดตลาดในระดับต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ ต่อออนซ์ เล็กน้อย

อย่างไรก็ดี Past performance do not determine future performance ขณะที่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองคำไม่ต่างจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด เช่นกัน นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

ขอขอบคุณ : YLG

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More