แนวโน้มระยะยาวยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และอาจทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2,500 $/Oz ในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่ในช่วงปลายเดือนนี้มีความเสี่ยงสูงที่ราคาจะทรุดตัวอย่างรุนแรงในระยะสั้น
ETF FLOW : กระแสเงินไหลในกองทุน ETF
เอกสารสรุปข้อมูลตลาดช่วงครึ่งปีแรกของสภาทองคำโลก (World Gold Council) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2020 ระบุว่ากระแสเงินไหลเข้าสู่ตลาดทองคำใน 6 เดือนแรกของปี 2020 พุ่งสูงสุดตลอดกาลถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์
สถิติการถือครองโดยกองทุน ETF เพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน ซึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการซื้อทองคำเข้าคลังถึง 104 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 2.7% ของสินทรัพย์ในบัญชีทั้งหมด (AUM) และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีการซื้อทองคำเข้าคลังถึง 154 ตัน
ระดับการถือครองทองคำของกองทุน ETF พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดตลอดกาลที่ 3,621 ตัน ซึ่งถือเป็นกระแสเงินไหลเข้าตลาดถึง 3.95 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งปีแรก นอกจากนี้ยังพบว่ากองทุน ETF ได้ซื้อทองคำเข้าคลังมากกว่าที่ธนาคารกลางของพวกเขาซื้อเมื่อปี 2018 และ 2019 ด้วยระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษเสียอีก อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือในช่วงครึ่งปีแรกมีประมาณ 45% ของผลผลิตทองคำทั่วโลกที่ถูกซื้อโดยกองทุน ETF เหล่านี้
Regional overview : ภาพรวมในระดับทวีป
สำหรับภาพรวมในหลาย ๆ ทวีปนั้น กองทุนจากอเมริกาเหนือแทบจะครอบงำธุรกรรมทั้งหมดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคิดเป็นกระแสเงินไหลเข้าตลาดถึง 80% ของทั้งหมด
ยอดรวมของเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว กองทุนในแถบอเมริกาเหนือซื้อทองคำไป 83 ตัน คิดเป็น 4.6 พันล้านดอลลาร์ (4.3% AUM) ขณะที่กองทุนจากยุโรปซื้อไป 18 ตัน คิดเป็น 745.7 ล้านดอลลาร์ (0.8% AUM) ทางฝั่งกองทุนจากเอเชียซื้อไป 0.4 ตัน คิดเป็น 36.7 ล้านดอลลาร์ (0.6% AUM) โดยกองทุนจากอินเดียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดในขณะนี้ กองทุนจากภูมิภาคอื่น ๆ ซื้อเพิ่ม 3 ตัน คิดเป็น 150.1 ล้านดอลลาร์ (4.4% AUM)
เมื่อนับจากต้นปี 2020 ก็จะพบว่ากระแสเงินไหลเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 28.2% ขณะที่กระแสเงินไหลออกจากตลาดลดลง 9% เมื่อนำมาหักลบกันแล้วจึงกลายเป็นปริมาณซื้อเข้าสุทธิถึง 734 ตัน นับเป็นเวลาเพียง 6 เดือนแรกของปี ที่กองทุน ETF ได้ทำลายสถิติการซื้อเข้าสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ 646 ตันตลอดทั้งปี 2009
Macroeconomic drivers : ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดในระดับมหภาค
ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากมุมมองในแง่ดีต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdowns และเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนเริ่มกลับมาดำเนินงานต่อได้ หุ้นสหรัฐฯ พุ่งขึ้นหลังจากมีรายงานอัตราว่างงานลดลงจาก 14.7% เป็ย 13.3% และในยุโรปก็ได้มีการผ่อนคลายมาตรการที่เข้มงวดต่าง ๆ ทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มุมมองในแง่ดีนั้น ในปัจจุบันได้เกิดความกังวลขึ้นใหม่สำหรับการระบาดเป็นระลอกที่ 2
แม้จะมีรายงานการจ้างงานสหรัฐที่ดีเกินคาดในเดือนพฤษภาคม รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นใหม่ในเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ Jerome Powell ประธานของ FED กล่าวว่า “FED กำลังมุ่งมั่นอย่างมากในการใช้เครื่องมือที่มี ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ และจะทำไปนานตราบเท่าที่จำเป็น”
ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมนั้นเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น แต่สัญญาณเตือนที่เพิ่มขึ้นของความเสี่ยงก็มีมากเช่นกัน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ในตลาดเริ่มมองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ U-shaped มากกว่า V-Shaped
การเก็งกำไรจากการประเมินผลกระทบของ COVID-19 และความไม่แน่นอนของการระบาดระลอกที่ 2 รวมถึงการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ Demand ในทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุน ETF คือผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากแรงผลักดันนี้
นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์เชิงลึกจาก Goldmoney ออกมาว่ารัฐบาลจีนอาจกำลังโอนย้ายทองคำแท่งอย่างลับ ๆ ไปยังคลังเงินทุนสำรองของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากกว่า 20,000 ตัน !! และเตรียมประกาศว่าเงินหยวนจะได้รับการผูกติดกับทองคำ
ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ดูแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้สูง และสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางการเงินของจีนที่เคยประกาศเอาไว้ว่าจะทำให้เงินหยวนแข็งแกร่งและไม่สามารถโดนแทรกแซงได้โดยอำนาจของเงินดอลลาร์ (อ้างอิงจาก References ที่ 8 ท้ายบทความ)
Price performance : ประสิทธิภาพของราคาทองคำ
มูลค่าของทองคำเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ขยายตัวถึงประมาณ 2% เมื่อเทียบกับต้นปี 2020 ขณะที่ความผันผวนโดยรวมได้ลดลงถึง 15% จากช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา และระดับการแกว่งตัวอยู่ที่ประมาณ 20% จากราคากลาง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังคาดหวังให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวมากขึ้นในระยะสั้น
ทองคำยังคงให้ผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 17% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ซึ่งถือว่าสูงกว่าดัชนี S&P 500 เสียอีก
Volumes การซื้อขายทองคำเฉลี่ยทั่วโลกในเดือนมิถุนายนลดลง 6% จากเดือนพฤษภาคมสู่ระดับ 1.57 แสนล้านดอลลาร์/วัน แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปี 2019 ที่ 1.46 แสนล้านดอลลาร์/วัน และยังเป็นสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก
Looking forward : อนาคตของตลาดทองคำ
สิ่งแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ทางการเมืองยังคงสนับสนุนให้มีการลงทุนในตลาดทองคำ รวมถึงปัจจัยขับเคลื่อนความต้องการในทองคำจากภาคส่วนอื่น ๆ ก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost)* สำหรับการถือครองทองคำในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งจำเป็นต้องกดอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ หรือแม้แต่ติดลบ เพื่อกระตุ้นหรือบังคับให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียนมากขึ้น
(* ต้นทุนค่าเสียโอกาส หมายถึง มูลค่าผลตอบแทนที่เราจะสูญเสียไปในการตัดสินใจเลือกลงทุนในทรัพย์สินใด สินทรัพย์หนึ่ง แทนอีกสินทรัพย์หนึ่ง ซึ่งถ้าอธิบายในบริบทของบทความนี้ก็คือณ ปัจจุบันไม่มีตัวเลือกอื่นใดมากนักที่จะลงทุนแล้วให้ผลตอบแทนได้ดีเท่ากับทองคำ”)
ขณะเดียวกัน หลายประเทศยังคงเผชิญกับความตึงเครียดและความไม่สงบในระดับสูง นอกจากนี้ยังมีความกังวลอย่างมากว่าวิถีการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะคุกคามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้น
การเพิ่มขึ้นของอัตราการติดเชื้อในบางส่วนของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่ามีบางอย่างที่เศรษฐกิจจะต้องพบเจอ ก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีความเชื่อมั่นโดยแท้จริง
เมื่อไม่นานมานี้ Dr Tedros Adhanom Ghebreyesus หัวหน้าองค์กรอนามัยโลกได้ออกมากล่าวเตือนว่า “ถึงแม้หลาย ๆ ประเทศจะมีความคืบหน้าทางเศรษฐกิจบางอย่างเกิดขึ้น แต่การแพร่ระบาดในทั่วโลกยังคงเร่งความเร็วมากขึ้น” หมายความว่านักลงทุนจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น
Individual flows : รายละเอียดสำคัญของการซื้อทองคำโดยกองทุน ETF
(1.) กองทุน SPDR® Gold Shares และ iShares Gold Trust เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของตลาดถึง 67% จากกระแสเงินไหลเข้าโดยกองทุน ETF ทั่วโลก
(2.) ในอเมริกาเหนือ SPDR® Gold Shares เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด โดยได้ซื้อทองคำเข้าคลังเพิ่ม 56 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ (5.1% AUM) ขณะที่ iShares Gold Trust ซื้อเพิ่ม 14 ตัน คิดเป็นมูลค่า 794 ล้านดอลลาร์ (3.2% AUM) และมี SPDR® Gold MiniShares ซื้อเพิ่มอีก 5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 295.2 ล้านดอลลาร์ (13.6% AUM) ตามมาด้วย Aberdeen Standard Physical Gold Shares ที่ซื้อเพิ่ม 2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 98.9 ล้านดอลลาร์ (4.8% AUM)
(3.) ในยุโรป กองทุน Amundi Physical Gold ETC จากฝรั่งเคสซื้อเพิ่ม 10 ตัน คิดเป็นมูลค่า 581 ล้านดอลลาร์ (21.1% AUM) และ Xetra-Gold จากเยรอมันซื้อเพิ่ม 7 ตัน คิดเป็นมูลค่า 286.2 ล้านดอลลาร์ (2.4% AUM) ขณะที่ Invesco Physical Gold ETC จากอังกฤษขายออก 4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 217 ล้านดอลลาร์ (-1.9% AUM)
(4.) ในประเทศจีน กองทุน Huaan Yifu ขายออก 2 ตัน คิดเป็นมูลค่า 111 ล้านดอลลาร์ (-6.9% AUM) ซึ่งหักล้างกับการซื้อเพิ่มจากภาคส่วนอื่นในทวีปเอเชีย
(5.) ในประเทศซาอุฯ ดิอาระเบีย กองทุน Albilad Gold ETF ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้เริ่มซื้อทองคำเข้าคลังทั้งหมด 1 ตันเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ คิดเป็นมูลค่า 41.2 ล้านดอลลาร์
Long-term trends : ภาพรวมแนวโน้มในระยะยาว
“การซื้อทองคำเข้าคลังโดยกองทุน ETF เพียง 6 เดือนแรกของปี 2020 ได้ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาลที่เคยทำไว้ 646 ตันตลอดทั้งปี 2009”
(1.) ตลอดระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2020 การถือครองทองคำโดยกองทุน ETF ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 25%
(2.) การถือครองทั้งในหน่วยน้ำหนักเป็นตัน หรือแม้แต่ในหน่วยมูลค่าสุทธิ เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาล
(3.) กองทุนจากอเมริกาเหนือและยุโรป ปัจจุบันนี้ถือครองทองคำอยู่ถึง 52% และ 43% ของกองทุน ETF ทั่วโลก โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้ง 2 ทวีปเริ่มถ่างออกจากภูมิภาคอื่น ๆ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา
(4.) กองทุน ETF ทองคำขนาดเล็กในสหรัฐฯ ปัจจุบันได้ถือทองคำรวมกันอยู่ 108 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์
Market Report : อัพเดทข่าวสำคัญเกี่ยวกับตลาดทองคำ
Session 1 : ความเสี่ยงที่จะโดนเทขายในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมนี้
Goldmoney ได้รายงานถึงความเสี่ยงของ “Punters Paradox” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกันเองของราคาทองคำตามแนวโน้มที่ควรจะเป็น โดยเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องอย่างมากกับคำว่า “Open Interest” หรือสัญญาซื้อขายคงค้างในตลาด Gold Futures
ก่อนจะไปลงรายละเอียดถึง Open Interest ในปัจจุบันกันนั้น World Maker อยากพาผู้อ่านมาดูให้เห็นชัด ๆ ก่อนว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นอย่างไรบ้างในอดีต โดยขออ้างอิงข้อมูลจาก Goldmoney และตลาด Comex ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์เกี่ยวกับโลหะมีค่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างแรกที่ผู้อ่านต้องรู้คือ จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีอยู่บ่อยครั้งที่ธนาคารทองคำแท่ง (ฺBullion Banks) และนักลงทุนรายใหญ่ ทำการปกปิด Volumes ของสัญญาขาย (Short Position) ของพวกเขาในขณะที่นักเก็งกำไรรายย่อยกำลังเข้ามาซื้อ (Long Position) ตอนที่ตลาดกำลังอยู่ในภาวะตลาดกระทิงสูงเกินไป (Over-Bullish Zone)
อนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่นักลงทุนรายย่อยเข้ามาเปิด Long Position มากขึ้น ก็อาจจะเป็นจังหวะดีที่ธนาคารทองคำแท่ง และนักเก็งกำไรรายใหญ่เหล่านี้จะทำกำไรจาก Short Position ของพวกเขา
โดยกลุ่มผู้ขายหลัก (Sell All Price) ในตลาดทองคำจะมีอยู่ 2 กลุ่มคือ Swaps (ธนาคารทองคำแท่ง) และ Producers/Merchants (บริษัทผู้ผลิต/พ่อค้ารายย่อย)
กระบวนการทำกำไรของผู้ขายเหล่านี้มีหลายทาง และถึงแม้จะเรียบง่าย แต่ก็มีความซับซ้อนในตัวเอง โดย World Maker จะขอยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2016 เพื่อให้เห็นภาพในเบื้องต้นดังนี้
ณ เดือนกรกฏาคมปี 2016 ทองคำกำลังอยู่ในภาวะตลาดกระทิงสูงมาก โดยราคาวิ่งขึ้นจากในอดีตที่ 1,040 $/Oz มาอยู่ที่ประมาณ 1,360 $/Oz และขณะนั้นมี Open Interest เหลืออยู่ทั้งหมด 633,000 สัญญา ซึ่งใน 633,000 สัญญานี้ แบ่งเป็นสัญญาขาย (Short Position) ของธนาคารทองคำแท่ง 56% และสัญญาขายของผู้ผลิต/พ่อค้ารายย่อยอีก 44% คิดเป็นมูลค่าสัญญาสุทธิถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์
ทางกลุ่มผู้ซื้อหลัก ซึ่งหมายถึงนักเก็งกำไร นักลงทุนรายย่อย ผู้บริหารกองทุนขนาดเล็ก จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “Managed Money” ซึ่ง ณ ตอนนั้นถือสัญญาซื้ออยู่ถึง 296,106 สัญญาคิดเป็น 69% ของสัญญาซื้อทั้งหมด ซึ่งเมื่อหักลบกับสัญญาขายของพวกเขาเองก็จะได้สัญญาซื้อคงค้างสุทธิอยู่ที่ 259,129 สัญญา สรุปง่าย ๆ คือกลุ่มรายใหญ่กำลังถือ Short Position เป็นหลัก และกลุ่มรายเล็กกำลังถือ Long Position เป็นหลัก
อนึ่ง ต้องสังเกตว่า Bullion banks (Swaps) และ Producer/Merchants ไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้ขาย” เท่านั้น เพราะพวกเขาสามารถเป็น “ผู้ซื้อ” ได้เช่นกัน โดยจากภาพด้านบนจะสังเกตเห็นว่าพวกเขาถือสัญญาซื้อ (Long Position) อยู่ถึง 39,218 และ 35,210 สัญญาตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อหักลบกันทั้งหมดแล้ว บริบทของกลุ่มรายใหญ่เหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งของผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ
เมื่อนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเปิด Long Position ในตลาดที่กำลังอยู่ในภาวะกระทิงสูงเกินไป Bullion bank และ Producer/Merchants จึงทำการลดสัญญาขายของพวกเขาให้เหลือเพียง 50,000 สัญญา ซึ่งทำให้ราคาทองคำร่วงลงอย่างรุนแรงถึง 240 $/Oz จากระดับเดิม 1,360 $/Oz ไปสู่ระดับ 1,120 $/Oz ในช่วงปลายปี 2016
นอกจากนี้เหตุการณ์ลด Open Interest ยังเคยเกิดขึ้นแล้วอย่างรุนแรงในปี 2020 นี้เอง !! ซึ่งหากใครอยู่ในตลาดทองคำมาตลอดก็จะรู้ว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ราคาทองคำกำลังจะขึ้นสู่ระดับ 1,700 $/Oz แต่อยู่ ๆ กลับถูกเทขายอย่างรุนแรงภายในระยะเวลาสั้น ๆ จนทำให้ราคาร่วงลงถึง 250 $/Oz ไปสู่ระดับประมาณ 1450 $/Oz
หลังจากนั้นก็ฟื้นตัวกลับขึ้นไปอย่างรุนแรงตามแนวโน้มที่ควรจะเป็น ทะลุระดับ 1,700 $/Oz ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำให้เกิดความมึนงงในหมู่นักลงทุนทั่วไปเป็นอย่างมาก และยังเป็นคำถามอยู่ในใจของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้
แต่หากสังเกตให้ละเอียดขึ้นไปอีกหน่อยก็จะพบว่า ก่อนหน้าที่ราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นนั้น Open Interest หรือสัญญาคงค้างได้พุ่งสูงขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว และก่อนที่ราคาทองคำจะร่วงลงอย่างรุนแรง Open Interest ก็ได้ลดลงอย่างรุนแรงก่อนแล้วเช่นกัน
การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นเทคนิคในการซื้อขายที่ส่งผลต่อการเก็งกำไรเป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเรามาดูสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วก็จะพบรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้
(1.) สัญญาคงค้างหรือ Open Interest ในตลาด Comex Gold Futures มีอยู่ถึง 573,088 สัญญาในขณะนี้ ซึ่งหมายความง่าย ๆ ว่ามีคนซื้อขายกันค้างอยู่อีกเกือบ 6 แสนสัญญา
(2.) ในเกือบ 6 แสนสัญญานี้ ข้อมูลจาก Goldmoney เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2020 ระบุว่าเป็นสัญญาขาย (Short Position) ของธนาคารทองคำแท่ง (Bullion Banks) ถึง 71% ส่วนอีก 29% ของผู้ขายคือ Producer/Merchants คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์
(3.) ขณะเดียวกันกลุ่มนักลงทุนรายย่อย (MM) กำลังซื้อสัญญาซื้ออยู่ถึง 173,526 สัญญา ซึ่งมีหักลบกับสัญญาขายที่ถืออยู่ 34,971 สัญญา ก็จะได้สัญญาซื้อคงค้างสุทธิ 138,555 สัญญา
(4.) และในสัญญาทั้งหมดที่คงค้างอยู่นี้ เมื่อดูรายละเอียดจากข้อมูลโดยตรงของตลาด Comex ก็จะพบว่าเป็นสัญญาซื้อขายคงค้างของเดือนสิงหาคม 2020 ถึง 345,896 สัญญา ซึ่งกำลังจะหมดอายุลงปลายเดือนนี้ !! และปัจจุบันสัญญาดังกล่าวได้ทยอยปิดไปแล้วถึง 20,411 สัญญาภายใน 10 วันแรกของเดือน สัญญาซื้อขายทองคำในเดือนสิงหาคม 2020 ที่ค้างอยู่คิดเป็นปริมาณถึง 171 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะผิดปกติกว่าเดือนอื่น ๆ มาก และการหมดอายุในเดือนนี้ หมายความว่าทั้ง 345,896 สัญญาจะต้องถูกปิดก่อนจะถึงสิ้นเดือน
(5.) กลับมามองที่ราคาทองคำในปัจจุบัน ทั้ง Spot และ Futures พบว่าหลังจากทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีเหนือระดับ 1800 $/Oz ตอนนี้เริ่มหมดแรงส่งในช่วงแรก และกำลังร่วงลงมาเพื่อปรับฐานใหม่อีกครั้ง
(6.) สำหรับตลาด Gold Futures นั้นจะมีรูปแบบการซื้อขายคือ ผลรวมเท่ากับศูนย์ (Zero Sum) หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายคือ เมื่อมีคนซื้อ ก็ต้องมีคนขาย ไม่งั้นก็จะไม่สามารถเปิดหรือปิดสัญญาได้สำเร็จ
(7.) ซึ่งในที่นี้ผู้ซื้อและผู้ขายจะเป็นใครก็ได้ ทั้งนักเก็งกำไร ธนาคารทองคำแท่ง กองทุน หรือพ่อค้ารายย่อย แต่โดยบริบทส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เปิดออเดอร์ขายจะเป็นกลุ่มธนาคารทองคำแท่ง กองทุน และบริษัทผู้ผลิต แต่ก็อาจมีนักเก็งกำไรบางกลุ่มที่เข้าตลาดมาเพื่อเปิด Short Position โดยเฉพาะ
(8.) ดังนั้นแล้ว การที่สัญญาซื้อขายทองคำเดือนสิงหาคม 2020 จะหมดอายุลงปลายเดือนนี้ หมายความว่าสัญญาซื้อ (Long Position) ที่คงค้างอยู่ในตลาดจะถูกปิดไปด้วยเช่นกัน
(9.) ที่น่ากลัวคือสัญญาขายได้ถูกเปิดโดยธนาคารทองคำแท่งถึง 71% ซึ่งหมายความว่ามีสัญญาซื้อจากนักลงทุนรายย่อยคงค้างอยู่มากเช่นกัน
(10.) เมื่อสัญญาซื้อขายเหล่านี้หมดอายุลง หมายความว่าราคาทองคำที่ถูกเก็งกำไรไว้ในเดือนนั้น ๆ จะหายไปด้วย ซึ่งนั่นก็อาจทำให้ราคาทองคำในตลาด Futures และ Spot ร่วงลงอย่างรุนแรงในช่วงเวลาสั้น ๆ ปลายเดือนนี้
(11.) อย่างไรก็ตาม คำว่า “มีความเสี่ยงสูง” ไม่ได้แปลว่าต้องเกิดขึ้น 100% แต่แปลว่ามีโอกาสเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่อาจเข้ามามีอิทธิพลกับตลาดมากกว่าปัจจัยเดิม ทำให้เหตุการณ์ความเสี่ยงนี้ไม่เกิดขึ้นจริง
(12.) อนึ่ง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในทิศทางตรงกันข้าม ราคาก็อาจตอบสนองโดยการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงไปทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบหลายปีอีกครั้ง
Session 2 : ข่าวสาร/บทวิเคราะห์ที่สำคัญของแนวโน้มระยะยาว
Prices are going to rise — and fast! ราคาทองคำกำลังจะพุ่งขึ้น และจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว !
หลังจากตลาดหุ้นได้พบเจอกับเหตุการณ์ระทึกขวัญนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ความหวังที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-Shaped อาจกลายเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของเหล่า Brokers เท่านั้น เนื่องจากนโยบายทางการเงินทั่วโลกในขณะนี้ แทบจะเป็นการที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินออกมาตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อเข้าพยุงสินทรัพย์ทุกอย่างภายในตลาด รวมถึงการปล่อยกู้ให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้เสียครั้งใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อัตราเงินเฟ้อจะกลายเป็นปัญหาที่ชัดเจนในอนาคต เนื่องจากธนาคารกลางและกระทรวง การคลังของสหรัฐฯ กำลังจะหมดหวังที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำ และพวกเขาจะทำในสิ่งเดียวที่พวกเขารู้คือ ปล่อยให้เงินเฟ้อพองตัวอย่างมหาศาล หรือไม่ก็ฆ่าเศรษฐกิจให้ตายแล้วเริ่มระบบใหม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกทางไหน แต่ราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปริมาณเงินดอลลาร์กระดาษในปัจจุบันนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยสิ่งนี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเงินดอลลาร์กำลังเสื่อมค่าลง และเกิดภาวะเฟ้ออย่างรวดเร็วกว่าที่ดัชนี CPI ได้แสดงให้คนส่วนใหญ่ทั่วโลกเห็น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทองคำคือ Safe Haven ที่ใช้ต่อต้านกับภาวะเงินเฟ้อได้อย่างดี
การคำนวณเบื้องหลังตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ซึ่งมักจะถูกตกแต่งให้ดูสวยงามเกินความเป็นจริงระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8-10% แล้ว แม้ว่าดัชนี CPI อย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2% เท่านั้น
นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาพบว่าอัตราเงินเฟ้อหลังจากการล้มละลายของ Lehman Brothers เพิ่มขึ้นถึง 9.5% เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อก่อนปี 2009 จะอยู่ที่ประมาณ 5.9% เท่านั้น (อ้างอิงจาก Shadowstats.com และ Chapwood Index)
ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็กำลังถือเงินสดเอาไว้ในคลังอย่างมหาศาล ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้จะค่อย ๆ กลายมาเป็นสภาพคล่องอันมหาศาลและอัตราเงินระดับสูงลิ่วภายหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020 ถึง 29 เมษายน 2020 งบดุลของธนาคารเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 2.489 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้รวมถึงการเพิ่มปริมาณสินทรัพย์ในคลังสำรองของ FED ที่ไม่ใช่การหมุนเวียนสู่สาธารณะเป็นมูลค่า 1.083 ล้านล้านดอลลาร์
นั่นหมายความว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ มีงบดุลเพิ่มขึ้นถึง 1.406 ล้านล้านดอลลาร์ และทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยที่ชัดเจนว่าจะเกิดเงินเฟ้ออย่างมหาศาลในอนาคต
บทวิเคราะห์จาก Goldmoney ระบุว่าเราจะเห็น 2 ขั้นตอนที่กำลังซื้อของเงินดอลลาร์จะถูกทำลายลง ซึ่งขั้นแรกดูเหมือนจะเริ่มเกิดขึ้นแล้ว หลังจากเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (ผลจากการ Q.E.) และขั้นที่ 2 ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นก็คือการที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มหันไปใช้เงินสกุลอื่นในการแลกเปลี่ยนแทนเงินดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนแรกนี้ก็ถือเป็นปัจจัยที่เพียงพอแล้วในการผลักดันราคาทองคำให้สามารถขึ้นไปทำระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาลได้ในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นขณะนี้ เราจะต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดอย่างมาก จากการที่ผู้คนไม่ยอมใช้จ่าย
Session 3 : สรุปข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
(1.) สำนักข่าว Bloomberg ยืนยันว่าทองคำกำลังอยู่ในสภาวะที่ดีมากสำหรับการทำระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาล แม้ในระยะสั้นจะมีความเสี่ยงที่ราคาจะลดลงอย่างรุนแรง
Warren Patterson หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ของ ING กล่าวว่ากรณีของการถือครองทองคำเหนือระดับ 1,800 $/Oz ยังดูแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่เริ่มอ่อนตัวลง และดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของเวลาเพียงเท่านั้น ในการที่ราคาทองคำจะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ตลอดกาล” ซึ่งระดับสูงสุดตลอดกาล ณ ปัจจุบันนี้คือ 1,921.17 $/Oz เมื่อเดือนกันยายนปี 2011
ส่วนความเสี่ยงในระยะสั้นที่ Bloomberg กล่าวถึงก็คือ การวิเคราะห์ทาง Technical กำลังบอกว่าราคาทองคำที่พุ่งขึ้นติดต่อกันมาหลายวันอาจกำลังสูญเสียแรงส่งในเดือนนี้ เนื่องจากค่า RSI เฉลี่ย 14 วันกำลังอยู่เหนือระดับ 70 ซึ่งถือว่าเป็น Overbought Zone หรือโซนที่สินทรัพย์มีการซื้อมากเกินไป ความหมายในอีกแง่หนึ่งคือทองคำกำลังถูกเก็งกำไรจนราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น และกำลังจะดีดกลับลงไป
อนึ่ง Howie Lee นักเศรษฐศาสตร์ของ Oversea-Chinese Banking Corp. กล่าวว่าพวกเขากำลังมีความสงสัยว่าราคาทองคำจะพุ่งขึ้นไปถึงระดับ 2,000 $/Oz ภายในสิ้นปีนี้หากจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย
(2.) Michael Howell ซึ่งเป็น CEO ของ Crossborder Capital กล่าวกับ Squawk Box ของ CNBC ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า การที่ FED และธนาคารกลางของจีนทำการปั๊มเงินเข้าสู่ตลาดอย่างมหาศาลถือเป็นข่าวที่น่าอัศจรรย์ของทองคำ และผมคาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นถึง 50% ในอีก 18 เดือนข้างหน้านี้ สู่ระดับ 2,500 $/Oz”
ขณะเดียวกัน Peter Boockvar กลุ่มที่ปรึกษาของบริษัท Bleakley กล่าวว่าราคาทองคำ ณ ปัจจุบันนี้ หากมีการปรับอัตราเงินเฟ้อให้ถูกต้องแล้ว ควรจะอยู่ที่ระดับสูงสุดตลอดกาลที่ประมาณ 2,600 $/Oz
นอกจากนี้ Boris Schlossberg กรรมการผู้จัดการกลยุทธ์การซื้อขายเงินตราต่างประเทศของบริษัท BK Asset Management ยังได้กล่าวอีกว่า การพุ่งขึ้นของราคาทองคำดูเป็นระเบียบและมีเสถียรภาพอย่างมาก ดังนั้นดูเหมือนว่าทองคำจะเป็นการลงทุนในระยะยาวสำหรับใครหลายคน ณ ตอนนี้
(3.) หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตทองคำของเมือง Johannesburg ประเทศแอฟริกาใต้พุ่งขึ้นกว่า 90% ในปี 2020 แม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมของประเทศยังคงติดลบอยู่ แต่หุ้นในกลุ่มทองคำกลับเพิ่มขึ้น 3.2% สู่ระดับสูงสุดตลอดกาลในวันศุกร์ที่ผ่านมา
Seleho Tsatsi นักวิเคราะห์จาก Anchor Capital กล่าวว่า หุ้นของบริษัทผู้ผลิตทองคำได้รับประโยชน์อย่างมากจากราคาทองคำที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
CR: World Maker https://www.blockdit.com/articles/5f096505b82c760cc154a76e?fbclid=IwAR3JolKzf7RfSu0TkbwypV7TJyRXa9a5g6NRiCcbsFBtRz4N6safmsiA_7o
References :
1.https://www.gold.org/goldhub/data/global-gold-backed-etf-holdings-and-flows/2020/june
2.https://www.goldmoney.com/research/goldmoney-insights/prices-are-going-to-rise-and-fast
3.https://www.goldmoney.com/research/goldmoney-insights/a-potential-crisis-in-comex-gold
4.https://www.goldmoney.com/research/market-updates/punters-paradox