11-06-20
ราคาทองคำปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.08 ดอลลาร์ โดยเริ่มได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนี CPI พื้นฐาน และดัชนี CPI ที่ปรับตัวลดลง 0.1% ในเดือน พ.ค. สวนทางคาดการณ์ว่าจะทรงตัว ก่อนที่ราคาทองคำจะได้รับแรงหนุนอย่างมาก หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ “คง” ดอกเบี้ยไว้ที่ 0.00-0.25% ตามคาด พร้อมให้คำมั่นว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป
ในส่วนของ Economic Projections พบว่า เฟดมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจในทุกด้าน เห็นได้จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลงถึง -6.5% ในปีนี้ และมีการ “ลด” คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 0.8% และ 1.6% ตามลำดับ รวมถึงปรับ “เพิ่ม” คาดการณ์อัตราการว่างงานในปีนี้และปีหน้าสู่ระดับ 9.3% และ 6.5% ตามลำดับ
ด้านค่ากลางของ Dot Plot สะท้อนว่า “อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะอยู่ใกล้ศูนย์ไปจนถึงปี 2022” นอกจากนี้ นายพาวเวล์ประธานเฟดยังย้ำชัดอีกว่า “การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในความคิดของเฟดเลยในเวลานี้”
ทั้งนี้ สัญญาณการดำเนินผ่อนคลายนโยบายการเงินจากเฟดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกดดันดัชนีดอลลาร์ให้อ่อนค่าลง -0.37% จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ ขณะที่มุมมองเชิงลบในตลาดแรงงานและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐกดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 282.31 จุดจึงเป็นปัจจัยกระตุ้นความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองเพิ่ม สถานการณ์ดังกล่าวหนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,739 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านกองทุน SPDR ที่ถือครองทองเพิ่มขึ้น +4.90 ตันสู่ระดับ 1,129.50 ตัน
มาดูการคาดการณ์การเคลื่อนไหวราคาทองคำวันนี้ หากราคาทองคำพยายามขึ้นไปทดสอบแนวต้านในโซน 1,740-1,746 ดอลลาร์ และไม่สามารถยืนได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ประเมินว่าในระยะสั้น ยังคงมีโอกาสปรับตัวลงทดสอบ แนวรับ 1,727-1,722 ดอลลาร์ ขณะที่แนวรับถัดไปนั้นอยู่ในบริเวณ 1,706 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของวันก่อนหน้า
กลยุทธ์การลงทุนวันนี้ นักลงทุนที่มีทองคำในมือ อาจแบ่งขายบางส่วนหากราคาไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,740-1,746 ดอลลาร์ แนะนำให้ชะลอการสะสมทองคำเพิ่มหากราคาไม่อ่อนตัวลง ขณะที่การเข้าซื้อควรรอการอ่อนตัวลงมาบริเวณโซน 1,722-1,706 ดอลลาร์
สำหรับคืนนี้ (11 มิ.ย.) ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ