มาติดตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมรับทราบมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้า ระหว่างเดือน มี.ค. – พ.ค.63 วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่อยู่อาศัย 22 ล้านราย ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ รายละเอียดของมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรีได้ไม่เกิน 150 หน่วย
2. มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ หากใช้มากกว่าเดือน ก.พ.63 แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ.บวกกับส่วนที่เกิน ที่ได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือน ก.พ. บวกกับส่วนเกิน ซึ่งได้รับส่วนลด 30 เปอร์เซ็นต์ โดยการลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า ซึ่งเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้วยการทำงานที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระโหม กล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่จะมีการประชุมกันในอังคาร ที่ 28 เม.ย. โดยจะไม่ผลีผลามผ่อนปรนจะต้องพิจารณาและดูถึงสถิติต่างๆ รวมทั้งจะต้องระมัดระวังให้มากที่สุด แต่จะไม่ทำเพราะแรงกดดัน เข้าใจดีว่าทุกคนได้รับความเดือดร้อน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพของประชาชน
พร้อมระบุไม่ได้พูดว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ หรือเปิดห้างสรรพสินค้าในวันที่ 1 พ.ค. หากผู้ประกอบการหรือภาคเอกชนที่ตัองการผ่อนปรน ก็ให้จัดทำแผนรับมือเสนอเข้ามายังภาครัฐเพื่อพิจารณา