ราคาทองคำดิ่งโหด 3 วัน ร่วม 110 ดอลลาร์ เมื่อวานร่วงแตะ 1,829 ดอลลาร์ ก่อนจะดีดตัวกลับมาเล็กน้อย ปัจจัยมาจากผลตอบแทนบอนด์ 10 ปีของสหรัฐดีดแรง ดอลลาร์แข็ง และราคาบิตคอยน์พุ่งต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำในประเทศเช้านี้ ร่วงลงบาทละ 500 บาท
สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาทองคำประจำวันที่ 9 ม.ค. 2564
ทองคำแท่ง
รับซื้อ บาทละ 26,350.00 บาท ขายออก บาทละ 26,450.00 บาท
ทองรูปพรรณ
รับซื้อ บาทละ 25,878.12 บาท ขายออก บาทละ 26,950.00 บาท
ราคาทองคำในประเทศเช้าวันนี้ลดลงบาทละ 500 บาท
ราคา gold spot ได้ร่วงลงมากถึง 110 ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเพียง 3 วัน จากเมื่อวันที่ 6 มกราคม ราคาทองคำได้พุ่งไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,959 ดอลลาร์ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ลงมาแตะจุกต่ำสุดที่ 1,829 ดอลลาร์
เฉพาะเมื่อวานนี้วันเดียวดิ่งลงมาเกือบ 90 ดอลลาร์ จากในช่วงเช้าวานนี้อยู่ที่ระดับ 1,917 ดอลลาร์ ลงมาแตะจุกต่ำสุดที่ 1,829 ดอลลาร์ ก่อนที่จะขยับตัวขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อช่วงเช้า มาเคลื่อนไหวแนว 1,850 ดอลลาร์
ขณะที่การซื้อขายสัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ. ปิดที่ 1,835.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง 78.20 ดอลลาร์ หรือ 4.09% โดยลดลง 3.2% ในรอบสัปดาห์นี้ โดยราคาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.
มาดูปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำได้ลดลงมาหนัก ก็คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี เมื่อคืนนี้ได้ปรับขึ้นเหนือระดับ 1.1% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 ทำให้นักลงทุนได้เทขายทองคำและหันไปซื้อพันธบัตร ขณะที่เงินดอลลาร์ยังได้แข็งค่า แตะที่ 90.1200 เพิ่มขึ้น 0.32%
ไปดูราคาบิตคอยน์ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ พบว่ายังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้แตะระดับ 42,000 ดอลลาร์ หรือราว 1,260,000 บาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาบิตคอยน์ได้พุ่งขึ้นมากกว่า 40% จากต้นปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% ในปีที่แล้ว โดยขณะนี้มีมูลค่าตลาดมากกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าตลาดคริปโต เคอเรนซี่ ได้ทะยานขึ้นเหนือระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์
ด้าน Square ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคของสหรัฐ ระบุว่า ราคาบิตคอยน์ได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สกุลเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง โดยเฉพาะดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองบิตคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก และยังมองว่าบิตคอยน์มีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับทองคำ
ขณะที่ นายนิโคลัส ปานิเกอร์โซโกล นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกน มองว่าปัจจัยที่ทำให้บิตคอยน์มีแนวโน้มแข็งแกร่ง เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกระจายการลงทุนด้วยการเข้าซื้อบิตคอยน์นอกเหนือ ไปจากการซื้อทองคำ และการดีดตัวของบิตคอยน์ในครั้งนี้ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มบริษัทฟินเทค และนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด ซึ่งแตกต่างจากในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย
อย่างไรก็ดีนายนูเรล รูบินี หรือ ดร.ดูม ผู้ที่เคยทำนายวิกฤติซับไพร์มได้อย่างถูกต้องเมื่อทศวรรษที่แล้ว และนายปีเตอร์ ชิฟฟ์ นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐ มองว่า บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์เก็งกำไรที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง และฟองสบู่บิตคอยน์จะระเบิดออกในที่สุด
CR:อินโฟเควสท์
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.