Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

วิเคราะห์ราคาทองคำ 16 มิ.ย.64(YLG)

- Advertisement -

385

- Advertisement -

คำแนะนำ :

ชะลอการซื้อหากราคาหลุดโซน 1,843 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาดีดตัวขึ้น แนะนำเปิดสถานะขายในโซน 1,867-1,879 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากยืนเหนือ 1,879 ดอลลาร์ต่อออนซ์) คำนึงถึงความผันผวนของราคาจากการประชุมเฟด

แนวรับ : 1,843 1,829 1,813  แนวต้าน : 1,867 1,879 1,891

สรุป  

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 8.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน  แม้ว่าเมื่อคืนนี้การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐบางส่วนจะออกมาแย่เกินคาด  อาทิ ยอดค้าปลีกที่ลดลง 1.3% ในเดือนพ.ค. และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะลดลง 0.8% และดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index)ที่ออกมาแย่เกินคาดเช่นกัน  อย่างไรก็ดี  การพุ่งขึ้นเกินคาดของตัวเลขเงินเฟ้อในฝั่งผู้ผลิต  สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน  ได้กระตุ้นการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเริ่มอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมที่กำลังจะเสร็จสิ้นลงในช่วงตี 1 ของคืนวันนี้  นั่นส่งผลหนุนดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและแกว่งตัวไม่ไกลจากระดับสูงสุดในรอบ 1  เดือนซึ่งส่งผลกดดันการฟื้นตัวของราคาทองคำ  แต่การปรับตัวลงของราคายังอยู่ในกรอบจำกัดเช่นกัน  เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอความชัดเจนว่านโยบายการเงินของเฟดจะมุ่งไปในทิศทางใด  นั่นทำให้ราคาทองคำแกว่งตัวผันผวนในกรอบแคบ  ด้านกองทุน SPDR  ถือครองทองไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้ติตตามการเปิดเผยการอนุญาตก่อสร้างและข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน  รวมถึงจับตาผลการประชุมเฟด คาด“คง” ดอกเบี้ยและวงเงิน QE ตามเดิม  แต่แนะนำรอดูสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตโดยเฉพาะความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการลดวงเงิน QE  รวมถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐผ่านทางแถลงการณ์ของประธานเฟด, Economic  Projections (คาดการณ์ GDP, อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ) และ Dot  Plot(คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเจ้าหน้าที่เฟด  ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาทองคำผันผวนได้

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 94.42 จุด นลท.วิตกเงินเฟ้อ-จับตาผลประชุมเฟด  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ยอดค้าปลีกของสหรัฐลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การพุ่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อยังสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนที่กำลังรอดูผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า คณะกรรมการเฟดจะเริ่มอภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,299.33 จุด ลดลง 94.42 จุด หรือ -0.27% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,246.59 จุด ลดลง 8.56 จุด หรือ -0.20% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,072.86 จุด ลดลง 101.29 จุด หรือ -0.71%
  • (+) เฟดนิวยอร์คเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำกว่าคาดในเดือนมิ.ย.  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ลดลง 7 จุด สู่ระดับ 17.4 ในเดือนมิ.ย. โดยปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 23.0
  • (+) สหรัฐเผยยอดค้าปลีกลดลงมากกว่าคาดในเดือนพ.ค.  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 1.3% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย.  นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกลดลง 0.8% ในเดือนพ.ค.  ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ลดลง 0.7% ในเดือนพ.ค. หลังจากลดลง 0.4% ในเดือนเม.ย.
  • (+) สหรัฐเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านร่วงต่ำสุดรอบ 10 เดือนในมิ.ย.  สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 81 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563  การชะลอตัวของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากสต็อกบ้านที่มีจำกัด รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง
  • (-) เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค.  ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย.
  • (-) สหรัฐเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจลดลงมากกว่าคาดในเดือนเม.ย.  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจลดลง 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมี.ค.  นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจลดลง 0.1% ในเดือนเม.ย.
  • (-) สหรัฐเผยดัชนี PPI พุ่งเกินคาดในเดือนพ.ค.  กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย.  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.3% หลังจากดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย.  ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2557
  • (-) ดอลล์แข็งค่าหลังบอนด์ยีลด์พุ่ง ตลาดจับตาผลประชุมเฟด  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ  ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.01% แตะที่ 90.5363 เมื่อคืนนี้  ดอลลร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2191 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2145 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8984 ฟรังก์ จากระดับ 0.9000 ฟรังก์ และทรงตัวเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.09 เยน  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2124 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2117 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4083 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4108 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7682 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7708 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (+/-) ทั่วโลกจับตาประชุมซัมมิต “ไบเดน VS ปูติน” พรุ่งนี้  ทั่วโลกจับตาการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในวันพรุ่งนี้  การประชุมดังกล่าวจะเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง และมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตกต่ำระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งมีความขัดแย้งเกี่ยวกับกรณียูเครน, ความมั่นคงทางไซเบอร์, สิทธิมนุษยชน และการแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ 

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More