Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 14 ต.ค.64 by YLG

- Advertisement -

329

- Advertisement -

คำแนะนำ :

หากตลอดวันราคาทองคำยังไม่สามารถฝ่าแนวต้านบริเวณ 1,796-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ให้ระมัดระวังแรงขายทำกำไรกดดันราคาเพิ่มขึ้น ราคามีโอกาสที่จะปรับย่อลงมาบริเวณแนวรับ 1,777-1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,777 1,764 1,749  แนวต้าน : 1,800 1,817 1,833

สรุป  

ราคาทองคำวานนี้ปิดทะยานขึ้น 32.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ +1.87%  ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน  โดยราคาทองคำพุ่งขึ้นก่อนจนทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,777 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ก่อนจะทิ้งตัวลงแรงหลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้นเกินคาดที่ 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นเกินคาดเช่นกันที่ 5.4% ในเดือนก.ย. ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะเร่งดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ  สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ซึ่งปกติจะเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 0.378% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 นั่นส่งผลให้ราคาทองคำร่วงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,757 ดอลลาร์ต่อออนซ์  อย่างไรก็ดี  ราคาทองคำกลับมาทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา  เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวชะลอตัวลง  ซึ่งมุมมองดังกล่าวกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปีของสหรัฐให้ร่วงลงสู่ระดับ 1.526% จนเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการดีดกลับอย่างแข็งแกร่งของราคาทองคำ  เพราะนอกจากบอนด์ยีลด์ที่ร่วงลงจะหนุนทองในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยแล้วนั้น  ยังกดดันดัชนีดอลลาร์ให้ร่วงลงตามจนเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ส่งผลหนุนราคาทองคำให้ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดบริเวณ 1,795.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -2.33 ตัน  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) สหรัฐฯ เตือนจีนปักกิ่งหยุดกดดัน “ไต้หวัน” หวั่นการเผชิญหน้า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวเตือนเมื่อวันอังคารว่า การกดดันของจีนแผ่นดินใหญ่ต่อไต้หวันนั้นอาจเพิ่มโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดและการต่อสู้โดยไม่ตั้งใจขึ้นได้  โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จอห์น เคอร์บี กล่าวหาว่า จีนปักกิ่งกำลังสร้างความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวัน พร้อมเตือนว่าวิธีการ “ยั่วยุ” เช่นนั้นอาจสร้างผลเสียมากกว่า  โฆษกเคอร์บี กล่าวว่า “จีนได้เพิ่มความพยายามข่มขู่และกดดันไต้หวันรวมทั้งชาติพันธมิตรอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มกิจกรรมทางทหารในพื้นที่รอบ ๆ ไต้หวัน ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นการสั่นคลอนเสถียรภาพและเพิ่มความเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้”  โฆษกเพนตากอน กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่น “อย่างแน่วแน่” ต่อการช่วยเหลือไต้หวันให้มีศักยภาพในการป้องกันตนเอง เพื่อประโยชน์ในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงข้ามช่องแคบไต้หวัน
  • (+) ดอลล์อ่อนค่า หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐชะลอตัวดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ต.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐชะลอตัวลง  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.46% แตะที่ 94.0877 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.36 เยน จากระดับ 113.66 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9241 ฟรังก์ จากระดับ 0.9308 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2436 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2462 ดอลลาร์แคนาดา  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1588 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1529 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3641 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3593 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7374 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7353 ดอลลาร์สหรัฐ
  • (-) ดาวโจนส์ปิดลบเล็กน้อย,Nasdaqปิดพุ่งรับแรงซื้อหุ้นเทคโนฯดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 ต.ค.) หลังจากที่ร่วงลงกว่า 100 จุดในช่วงแรก อันเนื่องมาจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.ย. ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดตลาดพุ่งขึ้นจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสาร
  • (-) เฟดเล็งเริ่มลด QE กลางเดือนพ.ย.หรือธ.ค.นี้ หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนก.ย.เมื่อคืนนี้ โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องร่วมกันว่าจะเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงกลางเดือนพ.ย. หรือกลางเดือนธ.ค.ปีนี้  “กรรมการเฟดตระหนักว่า หากการตัดสินใจเริ่มปรับลดวงเงิน QE เกิดขึ้นในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ กระบวนการปรับลดวงเงิน QE ก็จะสามารถเริ่มต้นได้ในช่วงกลางเดือนพ.ย.หรือกลางเดือนธ.ค.นี้ กรรมการเฟดส่วนใหญ่ประเมินว่า เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างแล้ว กระบวนการปรับลดวงเงิน QE อย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งจะเสร็จสิ้นลงในช่วงกลางปีหน้านั้น ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม” เฟดเปิดเผยในรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมารายงานการประชุมยังระบุด้วยว่า ตามแผนการต่าง ๆ ที่กรรมการเฟดได้หารือกันในการประชุมเดือนก.ย.นั้น เฟดจะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จากปัจจุบันที่เฟดซื้อพันธบัตรในวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน นอกจากนี้ เฟดจะปรับลดการซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ลง 5 พันล้านดอลลาร์/เดือน จากปัจจุบันที่ซื้อตราสารหนี้ MBS ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน  “กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นว่า การที่เฟดส่งสัญญาณล่วงหน้าให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับแนวทางเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงที่ตลาดจะมีปฏิกริยารุนแรงต่อการปรับลดวงเงินในโครงการ QE” รายงานการประชุมเฟดระบุ
  • (+/-) สหรัฐเผยเงินเฟ้อเดือนก.ย.เพิ่ม 0.4%สูงกว่าคาดการณ์กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% อยู่เล็กน้อย หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค.  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.3% หลังจากที่เพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนส.ค.นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนส.ค.

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More