ราคาทองคำแกว่งตัวผันผวน หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เดือน ม.ค. พุ่งขึ้น 7.5% เมื่อเทียบรายปี
ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2525 และสูงกว่าเดือน ธ.ค. ที่ระดับ 7.0%
ขณะที่ ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เดือน ม.ค. พุ่งขึ้น 6.0% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2525 และ สูงกว่าเดือน ธ.ค. ที่ระดับ 5.5%
นางสาว ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG เปิดเผยกับ GoldAround.com ว่า
ราคาทองคำแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาได้ส่งผลกับราคาทองคำ 2 ทิศทาง
คือ ตัวเลข CPI ที่ดีเกินคาด สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง จึงเป็นปัจจัยหนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ครั้งใหม่ ที่บริเวณ 1,841.86 ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย Fed Watch Tool ของ CME Group สะท้อนโอกาสถึง 93% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 20% ในช่วงก่อนการเปิดเผยตัวเลข CPI
นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากถ้อยแถลงของประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์
ที่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1% ภายในวันที่ 1 ก.ค. นี้ หรือ ภายใน 3 การประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งถัดไป
การคาดการณ์ดังกล่าวหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ดีดตัวเหนือ 2.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. ปี 2019 ที่ 2.056% จนเป็นปัจจัยกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย
YLG ประเมินว่า ราคาทองคำจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่อง เหตุเพราะการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำให้เกิดแรงขายสลับออกมาเป็นระยะ อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบจะมาก หรือ น้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องของเงินเฟ้อ หรือไม่ และอย่างไร
ขณะนี้ ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 15-16 มี.ค. ซึ่งยังคงมีหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้การคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดมีการเปลี่ยนแปลง อาทิ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด การเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจในตลาด แรงงานประจำเดือน ก.พ. ทำให้ภาพรวมราคาทองคำจะยังคงผันผวน จนกว่าจะทราบความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก FED ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. ก็มองว่า ตลาดได้ Price in การคาดการณ์ดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว
ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ราคาทองคำอ่อนตัวลงจากระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ครั้งใหม่ บริเวณ 1,841 ดอลลาร์ และสถิติในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า ราคาทองคำจะเกิด Price action ในลักษณะ “Sell the rumor, Buy the fact” ในช่วงที่เฟดคุมเข้มนโยบายการเงิน
ดังนั้น YLG เชื่อว่า ผลกระทบเชิงลบจากการดำเนินการดังกล่าวอาจเกิดขึ้น แต่อยู่ในกรอบจำกัด หากเฟดดำเนินการสอดคล้องกับการคาดการณ์ก่อนหน้า ในทางกลับกัน หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งจะถือว่า Dovish มากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ปัจจัยนี้เองจะสร้างแรงหนุนให้แก่ราคาทองคำได้อย่างมาก
อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของทองคำในระยะถัด ๆ ไปจะขึ้นอยู่กับว่า เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกี่ครั้งในปีนี้ และมีแผนการปรับลดขนาดงบดุลอย่างไร
ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสินทรัพย์อื่น ๆ จากการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน ก็จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำเช่นเดียวกัน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.