หลังจากเงียบหายไปร่วมสัปดาห์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 22 ต.ค.) SPDR GOLD SHARES กองทุนทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็ยังคงขายทองคำออกมาอีก 2.03 ตัน ที่ราคา 1,783.10 ดอลลาร์ ( อ่านข่าว ความเคลื่อนไหว SPDR ก่อนหน้านี้ )
ทำให้ในเดือนตุลาคม SPDR ได้ขายออกหน้าเดียว รวม 5 ครั้ง น้ำหนักทองคำร่วม 12 ตัน ทำให้ปีนี้ยังติดลบ 192.67 ตัน เหลือถือครองทองคำ 978.07 ตัน
แม้ว่า SPDR จะเทขายทองคำออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมาดูการเคลื่อนไหวของ กองทุน Gold-ETF ในประเทศจีน กลับพบว่า ไม่ได้มีการขายทองคำออกมาเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยปัจจุบันกองทุนในจีนถือครองทองคำด้วยปริมาณสูงสุดเป็นอันดับ 2 เท่าที่เคยมีมา
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ทองคำยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีน เพราะมองว่า โอกาสของการเกิด Stagflation หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่อัตราเงินเฟ้อกลับสูงขึ้น ทำให้ทองคำจะเข้ามาเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง ขณะที่เดือน ต.ค. ยังเป็นช่วงที่ยอดขายเครื่องประดับอยู่ในระดับสูงจากเทศกาลวันชาติจีน
อย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตทองคำของจีน ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลกด้วยสัดส่วน 11.9% ของการผลิตทองคำทั่วโลกในปี 2020 หรือ คิดเป็นน้ำหนักที่ 380 ตัน ยังลดลงจากปัญหาการผลิตของเหมืองทองคำ และเมื่อรวมเข้ากับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการบริโภคทองคำ เป็นปัจจัยให้ความต้องการทองคำของจีนเพิ่มสูงขึ้นอีกในเดือนถัด ๆ ไป
ส่วนความต้องการทองคำในอินเดีย แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้นกลับไม่สู้ดี เนื่องจากกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องของระดับเงินออมของครัวเรือนที่ลดลง, การเข้าถึงบริการทางการเงิน และการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ จากสถิติตั้งแต่ปี 1960 จนถึง 2010 พบว่าอัตราเงินออมของชาวอินเดียสูงขึ้นจาก 6% ไปเป็น 34.3% ก่อนจะลดลงต่ำกว่า 30% ในปี 2018 และยังคงลดลงเรื่อย ๆ หลังจากชาวอินเดียใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปกับสินค้าและบริการอย่างสมาร์ทโฟน, เสื้อผ้าแฟชั่น และการท่องเที่ยว
ขณะที่ การเข้าถึงบริการทางการเงินและความรู้ทางการเงิน ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริโภคทองคำ โดยจากการสำรวจพบว่า ในพื้นที่แถบชนบท สินทรัพย์ที่จับต้องได้ซึ่งรวมถึงทองคำจะได้รับความนิยมในรูปแบบของการลงทุนมากกว่าการซื้อเป็นเครื่องประดับ
นอกจากนั้นอัตราเงินเฟ้อในอินเดียเคยทะยานขึ้นกว่า 10% มาตลอดในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ลดลงต่ำกว่า 5% ในช่วงปี 2014 ถึง 2020 ในขณะที่ค่าแรงด้านการเกษตรก็ลดลง จึงอาจเป็นตัวบั่นทอนความต้องการของทองคำในพื้นที่ชนบท
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ ซื้อ-ขาย หรือ ลงทุน หรือ เป็นเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ และอาจจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldAround.com ทั้งนี้ ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และ หรือ ความเสียหาย ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.