18-05-20
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5% ในไตรมาสที่ 4/62 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัวลง
ขณะที่คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 63 คาดว่าจะปรับตัวลดลง -6.0 ถึง -5.0% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, การลดลงรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ, การระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง
ส่วนที่ประเทศญปุ่น สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 หดตัวลง 3.4% จากไตรมาส 4/2562 โดยได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลก อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลล์สำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดการณ์ไว้ว่า GDP ไตรมาส 1 ของญี่ปุ่นจะหดตัวลง 5%
เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า GDP ในไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นจะหดตัวรุนแรงกว่าในไตรมาส 1 ปีนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
รายงานของสำนักงานคณะรัฐมนตรียังระบุด้วยว่า การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น ปรับตัวลง 0.7% ในไตรมาส 1/2563 จากไตรมาส 4/2562 โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการรับประทานอาหารนอกบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลได้ขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อชะลอการแพร่ระบาดของ โควิด-19
ส่วนการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศ และการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน ปรับตัวลง 0.5% และ 4.5% ตามลำดับ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีกำหนดเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2563 ที่มีการทบทวน ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้
ขอบคุณข้อมูล: อินโฟเควสท์
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.