Daily Gold Chat
Thinking Of Investing In Gold? Before You Go, Grab The Definitive Guide To Gold Investing!
กำลังคิดที่จะลงทุนในทองคำอยู่ใช่ไหม ก่อนที่คุณจะไป คว้าคำแนะนำขั้นสุดท้ายสำหรับการลงทุนทองคำ!
ลงทุนทองคำอย่างไรให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงสุด
ฝากไว้ให้คิด :
“ก่อนตัดสินใจลงทุนทองคำ นอกจากต้องศึกษาข้อมูล และนำมาวิเคราะห์แล้ว นักลงทุนควรตั้งเป้าหมายด้วยว่าลงทุนเพื่ออะไร ระยะเวลาการลงทุนเป็นอย่างไร รูปแบบการลงทุนเป็นแบบใด ต้องวางกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร และที่สำคัญต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่ตามมาด้วยเสมอ หากทำได้ย่อมมีโอกาสชนะมากกว่าพ่ายแพ้”
หลังจากรัสเซียบุกยูเครน ราคาทองคำในตลาดโลกก็ปรับขึ้นตามไปด้วย และจากสถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อ อาจฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง บวกกับราคาน้ำมันและราคาพลังงานปรับสูงขึ้น ผลที่ตามมา คือ นักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) มากขึ้น ซึ่งทองคำกลายเป็นเป้าหมายอันดับต้น ๆ ที่ควรมีไว้ในพอร์ตลงทุน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทองคำจะเป็นหลุมหลบภัยชั้นยอด แต่ จิม โรเจอร์ นักลงทุนที่เชี่ยวชาญการลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ มองว่าทองคำก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน “หากไม่ใช้เงินเย็น และไม่มีเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว การลงทุนทองคำย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ”
จากอดีตที่คนไทยซื้อทองคำเพื่อนำมาเป็นเครื่องประดับ แต่วันนี้คนไทยมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ลงทุนประเภทหนึ่ง โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ลงทุนยอดนิยม เนื่องจาก “ผลตอบแทนจากราคา” (Capital Gain) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ทำให้เริ่มแบ่งเงินลงทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นมาลงทุนทองคำเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาลงทุนทองคำแล้วอาจเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรวางแผนเบื้องต้นเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน ดังนี้
1. กำหนดระยะเวลาการลงทุนให้ชัดเจน
ราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนคาดหวังว่า ตัวเองจะสามารถสร้างกำไรจากการลงทุนทองคำได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้งนับจากที่เคยทำจุดสูงสุดไว้ที่ 2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนทองคำคึกคักขึ้น เพราะมองว่าราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอีก
Goldman Sachs สถาบันการเงินระดับโลก ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาทองคำในปีนี้ โดยในระยะ 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม) ราคาทองคำอาจเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนในระยะ 6 เดือน (มีนาคม – สิงหาคม) ปรับเพิ่มเป็น 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้วยเหตุผลจากความต้องการซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค นักลงทุน และธนาคารกลาง เพราะความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากราคาทองคำที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วอาจทำให้มีแรงเทขายเพื่อทำกำไร ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหากจับจังหวะลงทุนผิดพลาด หรือราคาทองคำไม่ได้ปรับขึ้นไปตามที่คาดไว้ ทำให้นักลงทุนที่มีเป้าหมายลงทุนระยะสั้น (เก็งกำไร) ต้องถือลงทุนทองคำต่อไปและกลายเป็นนักลงทุนระยะยาวโดยไม่ได้ตั้งใจ
ขณะเดียวกัน นักลงทุนที่มีเป้าหมายต้องการถือลงทุนระยะยาว เพื่อเป็นเงินเก็บไว้ใช้จ่ายยามเกษียณหรือเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน เมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจตัดสินใจขายเพื่อทำกำไร จากนั้นก็รอจังหวะเข้าลงทุน (ซื้อทองคำกลับคืน) เมื่อราคาทองคำปรับลดลง แต่หากราคาทองคำไม่ได้ปรับลดลงตามที่ประเมินไว้จะทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวที่ตั้งใจไว้ได้เช่นกัน
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในทองคำควรมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อให้สามารถเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้
2. เลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสม
การลงทุนในทองคำนั้นมีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งทองคำแท่ง กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมอีทีเอฟทองคํา (Gold ETFs) และสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) โดยนักลงทุนแต่ละคนเหมาะกับรูปแบบการลงทุนทองคำที่แตกต่างกัน แต่หลายคนอาจเลือกรูปแบบการลงทุนที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่วางไว้หรืออาจถึงขั้นขาดทุน
สำหรับนักลงทุนระยะสั้น ควรเลือกลงทุนใน Gold ETFs และ Gold Futures โดย Gold ETFs นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ในตลาดหุ้น ซึ่งจะทราบราคาทองคำที่ซื้อขายได้ทันที และมีความสะดวกในการซื้อขาย ส่วน Gold Futures เป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าในตลาดอนุพันธ์ ช่วยให้นักลงทุนสามารถทำกำไรได้ทั้งในช่วงที่ราคาทองคำเป็นขาขึ้นและขาลง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Gold Futures เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในการลงทุนทองคำทั้ง 4 ประเภท เนื่องจากหากนักลงทุนคาดการณ์ราคาทองคำผิดทาง เช่น ซื้อสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า โดยคาดว่าราคาทองคำจะปรับขึ้น แต่ราคาทองคำกลับอ่อนตัวลง นักลงทุนมีโอกาสถูกเรียกเงินหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) ซึ่งจะต้องเพิ่มเงินลงทุน ดังนั้น นักลงทุน Gold Futures จะต้องติดตามราคาและข้อมูลเกี่ยวกับทองคำอย่างใกล้ชิด
ส่วนนักลงทุนระยะยาว รูปแบบการลงทุนทองคำที่เหมาะสม คือ กองทุนรวมทองคำที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ซึ่งกองทุนรวมทองคำส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีนโยบายลงทุนในกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งลงทุนในทองคำแท่ง จุดเด่นของกองทุนทองคำที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล คือ ความปลอดภัยในการเก็บรักษาและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนระหว่างการลงทุน
โดยกองทุนรวมทองคำอาจไม่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้นมากนัก เนื่องจากขณะที่ซื้อขายกองทุน นักลงทุนจะยังไม่ทราบราคาทองคำที่ซื้อขาย โดยจะทราบราคาทองคำ ณ สิ้นวัน หรือในวันทำการถัดไป (ขึ้นอยู่กับนโยบายของกองทุน) ส่งผลให้การเก็งกำไรทำได้ยากกว่าการลงทุนใน Gold ETFs หรือ Gold Futures ส่วนการลงทุนทองคำแท่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวเช่นกัน และต้องการถือทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย แต่อาจพบความยุ่งยากในการเก็บรักษาทองคำได้
3. จัดกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับระยะเวลาลงทุน
กลยุทธ์การลงทุนทองคำสำหรับนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวมีความแตกต่างกัน โดยนักลงทุนระยะสั้นซึ่งเน้นการเก็งกำไร ควรมีการกำหนดจุดซื้อและจุดขายทองคำที่ชัดเจน รวมทั้งต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด เช่น หากราคาทองคำปรับลดลงมาสู่ระดับต่ำกว่าต้นทุนมายังระดับราคาที่กำหนดไว้เพื่อขายตัดขาดทุน นักเก็งกำไรที่มีวินัยก็จะขายทองคำที่ราคาดังกล่าว เพื่อให้มีเงินลงทุนในการเก็งกำไรครั้งใหม่ต่อไป ดังนั้น ควรศึกษาการวิเคราะห์ทางเทคนิค เพื่อช่วยให้ทราบจุดซื้อและจุดขายที่เหมาะสม
สำหรับนักลงทุนระยะยาว สามารถลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ซึ่งเป็นการซื้อทองคำแบบสม่ำเสมอทุกเดือนด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน เป็นการสร้างวินัยในการลงทุนและช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนทองคำได้
การลงทุนทองคำไม่ใช่เรื่องยาก หากนักลงทุนสามารถเลือกรูปแบบในการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับระยะเวลาลงทุน นอกจากนี้ควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มราคาทองคำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่วางเอาไว้
หมายเหตุ : บทความนี้ มีที่มาจาก setinvestnow.com (โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน