สัปดาห์ที่ผ่านมาทองคำผันผวน จากสถานการณ์ในยูเครน
สัปดาห์นี้ติดตามการแถลงนโยบายการเงินของประธานเฟด
แนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวขึ้น
- ราคาทองคำ Spot ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงกลางสัปดาห์ราคาทองคำปรับขึ้นอย่างร้อนแรงในระดับสูงสุดที่ 1,974 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 18 เดือน จากประเด็นความตึงเครียดในยูเครน หลังจากที่รัสเซียได้บุกโจมตียูเครน ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นักลงทุนต่างมีความวิตกกังวลว่าสงครามจะกำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงปลายสัปดาห์สถานการณ์เริ่มคลายความกังวลลง จากที่รัสเซียส่งสัญญาณพร้อมเจรจากับยูเครน ส่งผลทำให้ราคาทองคำปรับตัวลงมาแรง ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ซื้อทองคำสุทธิ 2.9 ตันจากสัปดาห์ก่อน
- สัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยการจ้างงานภาคเอกชนทั่วประเทศเดือนก.พ. ของ ADP และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ. รวมถึงติดตามการแถลงการณ์นโยบายการเงินของประธานเฟด การแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่าน ได้แก่ การแถลงของประธานเฟดสาขาเซ็นต์หลุยส์ การแถลงของประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก การเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟด 12 เขต (Beige Book) รวมถึงติดตามสถานการณ์รัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด
- แนวโน้มราคาทองคำคาดปรับตัวขึ้น โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,880 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไปที่ 1,870 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,930 ดอลลาร์ และ 1,950 ดอลลาร์
ราคาทองตลาดโลก
Close | Support | Resistance |
1,888.70 | 1,880/1,870 | 1,930/1,950 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | Support | Resistance |
29,150 | 28,900/28,750 | 29,500/29,750 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | Support | Resistance |
29,210 | 29,040/28,750 | 29,520/29,740 |
แนะนำเข้าซื้อราคาทอง Spot ที่ 1,880 ดอลลาร์ (GF 29,040บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,870 ดอลลาร์ (GF 28,750บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | Support | Resistance |
1,892.40 | 1,882/1,872 | 1,932/1,952 |
แนะนำเข้าซื้อราคา GOH22 ที่ 1,882 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,872 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์ยูเครน ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่าแข็งค่าต่อเนื่อง สำหรับ USD Futures เดือนมี.ค.65 มีแนวรับที่ 32.20 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 32.83 บาท/ดอลลาร์
News
รมว.ต่างประเทศสหรัฐมั่นใจ “ปูติน” หวังโค่นล้มรัฐบาลยูเครน
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า เขามั่นใจว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะพยายามโค่นล้มรัฐบาลยูเครน นายบลิงเกนให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐ โดยกล่าวว่า การโจมตีกรุงเคียฟและเมืองใหญ่ ๆ ของยูเครน ตลอดจนการเปิดฉากโจมตียูเครนหลายด้านจากพรมแดนทางตอนเหนือ, ตะวันออก และทางตอนใต้นั้น เป็น “ส่วนหนึ่งในแผนของรัสเซีย” นายบลิงเกนกล่าวว่า เป็นไปได้ว่ารัสเซียอาจจะโจมตีที่อื่น ๆ นอกเหนือไปจากยูเครนด้วย อย่างไรก็ดี นายบลิงเกนย้ำถึงคำมั่นของสหรัฐที่จะปกป้องพันธมิตรนาโต (NATO) โดยเตือนว่า “โจมตีสมาชิกนาโตรายเดียว เท่ากับโจมตีสมาชิกนาโตทั้งหมด” “ท่านปธน.กล่าวชัดมากว่า เราจะปกป้องทุกตารางนิ้วของดินแดนนาโต ผมว่านั่นเป็นอุปสรรคที่ทรงพลังที่สุดสำหรับปธน.ปูตินที่จะบุกเกินไปกว่ายูเครน” นายบลิงเกนกล่าว นอกจากนี้ นายบลิงเกนยังย้ำจุดยืนของปธน.โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐว่า ความเป็นไปได้ที่จะขยายมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีอยู่เพื่อกำหนดเป้าหมายไปยังปธน.ปูตินโดยตรงนั้น ยังคง “อยู่บนโต๊ะเจรจา” หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น
นักวิเคราะห์ชี้รัสเซียยึดเชอร์โนบิลเปิดช่องส่งกำลังจากเบลารุส
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.พ. 65)–นักวิเคราะห์ให้ความเห็นถึงเหตุผลที่รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลว่ามาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แม้ปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้จะไม่ได้ใช้การแล้วหลังเกิดเหตุระเบิดเมื่อปี 2529 อีกทั้งพื้นที่โดยรอบในรัศมีหลายไมล์ยังคงมีสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างอยู่ก็ตาม โดยนักวิเคราะห์ระบุว่าโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลตั้งอยู่ในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดระหว่างประเทศเบลารุสและกรุงเคียฟของยูเครน และขนานไปกับเส้นทางการโจมตีที่รัสเซียวางแผนจะใช้ในการบุกยูเครน นักวิเคราะห์การทหารฝั่งตะวันตกมองว่า การที่รัสเซียยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็เพื่อใช้เป็นเส้นทางสำหรับการบุกโจมตีจากเบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซียได้เร็วที่สุด “นี่เป็นวิธีการเดินทางที่เร็วที่สุดจุด A ไปจุด B” นายเจมส์ แอคตัน จากสถาบันส่งเสริมสันติภาพระหว่างประเทศคาร์เนกี (Carnegie Endowment for International Peace) กล่าว ขณะที่พลเอกแจ็ก คีน อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐให้ความเห็นว่า “เชอร์โนบิลไม่ได้มีนัยสำคัญทางการทหาร แต่เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากเบลารุสมายังกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่รัสเซียใช้ในการยึดอำนาจและขับไล่รัฐบาลยูเครนออกไป” นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของยูเครนยังระบุว่า การยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเป็นส่วนหนึ่งของแผนรัสเซีย ขณะที่เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐระบุว่า สหรัฐยังไม่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ นายแอคตันยังกล่าวว่า การที่รัสเซียยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นไม่ได้เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมระบุว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 โรงของยูเครนมีความเสี่ยงมากกว่าเชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่ใน “เขตยกเว้น” ที่มีขนาดใกล้เคียงประเทศลักเซมเบิร์ก
แหล่งข่าวเผยยูเครนขอแฮกเกอร์ใต้ดินช่วยสกัดรัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐบาลยูเครนได้ขอความร่วมมือจากอาสาสมัครกลุ่มแฮกเกอร์ใต้ดินให้ช่วยปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ และปฏิบัติภารกิจสอดแนมทางไซเบอร์เพื่อต่อต้านกองทัพรัสเซีย ทั้งนี้ มีผู้เห็นประกาศรับอาสาสมัครบนฟอรัมของกลุ่มแฮกเกอร์เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ขณะที่กองทัพรัสเซียได้เข้าโจมตีหลายเมืองในยูเครน และประชาชนจำนวนมากลี้ภัยออกจากกรุงเคียฟ ประกาศดังกล่าวมีใจความว่า “ชุมชนไซเบอร์ชาวยูเครน ถึงเวลาแล้วที่เราจะมีส่วนร่วมในการป้องกันประเทศของเราจากภัยคุกคามทางไซเบอร์” พร้อมกับขอให้แฮกเกอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยื่นใบสมัครผ่านทางกูเกิลดอค พร้อมระบุความเชี่ยวชาญของตนเอง เช่น การพัฒนามัลแวร์ รวมถึงบุคคลที่ยืนยันความเชี่ยวชาญของผู้สมัครได้
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.