คำแนะนำ :
เน้นเก็งกำไรในกรอบจากการแกว่งตัว หากราคายังไม่ผ่านโซน 1,813-1,818 ดอลลาร์ต่อออนซ์ รอเปิดสถานะซื้อในบริเวณ 1,794-1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์) เพื่อไปรอพิจารณาที่แนวรับถัดไป
แนวรับ : 1,790 1,778 1,766 แนวต้าน : 1,818 1,833 1,845
สรุป
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวลดลง 4.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงกดดันจากดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น +0.08% สู่ระดับ 92.906 พร้อมปิดบวกเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยนักลงทุนได้เข้าซื้อดอลลาร์ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ในทางเทคนิคเกิด “Golden Cross” ที่เส้นค่าเฉลี่ย 50 วันตัดขึ้นมายืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ซึ่งเป็นสัญญาณของตลาดกระทิงในดัชนีดอลลาร์ นอกจากนี้ ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่เคลื่อนไหวไม่ไกลจากระดับ 1.30% อีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,790.36 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เกิดแรงซื้อ Buy the dip ในเวลาต่อมา ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยล่าสุดวันศุกร์ทางการจีนประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อชาวอเมริกันหลายราย โดยหนึ่งในนั้น คือ นายวิลเบอร์ รอสส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เพื่อตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวจีน 8 คนที่ทำงานในฮ่องกง นอกจากนี้ นักลงทุนบางส่วนยังเข้าช้อนซื้อทองคำเมื่อราคาปรับตัวลง จากความวิตกเกี่ยวการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐ หลังจากสหรัฐรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่โดยเฉลี่ยประมาณ 43,700 รายต่อวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 65% จาก 7 วันก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่กระนั้น การปรับตัวขึ้นของทองคำยังอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังในการถือครองสถานะก่อนการประชุมเฟดในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -1.17 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) จีนใช้มาตรการลงโทษต่ออดีตรมต.พาณิชย์สหรัฐฯและชาวอเมริกันหลายคน ทางการจีนประกาศในวันศุกร์ว่าได้ตัดสินใจใช้มาตรการลงโทษต่อชาวอเมริกันหลายคน เพื่อตอบโต้การลงโทษของสหรัฐฯต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวจีนแปดคนที่ทำงานในฮ่องกง ชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในการตกเป็นเป้าครั้งนี้คือ นายวิลเบอร์ รอสส์ อดีตรัฐมตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ การตอบโต้นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ อเมริกาใช้มาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่จีนเเปดคนซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการหนึ่งรายและรองผู้อำนวยการอีกเจ็ดคนเเห่งสำนักงานผู้เเทนของจีน หรือ Liaison Office ในฮ่องกง
- (+) “เยลเลน” เตือนสหรัฐจ่อผิดนัดชำระหนี้เดือนต.ค.นี้ หากไม่เพิ่มเพดานหนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสปรับเพิ่มเพดานหนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนต.ค.นี้ ทั้งนี้ นางเยลเลนได้ส่งจดหมายถึงนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพื่อเรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาล หลังจากที่สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐ (CBO) เตือนเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า สหรัฐมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ในเดือนต.ค.หรือพ.ย.นี้ นอกเสียจากว่า สภาคองเกรสจะปรับเพิ่มหรือยกเลิกเพดานหนี้
- (+) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐเพิ่มขึ้นทั้ง 50 รัฐ หลังเดลตาครองอเมริกา จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐได้เพิ่มขึ้นทั้ง 50 รัฐ รวมทั้งในกรุงวอชิงตัน ดีซี ขณะที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) แถลงว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้พุ่งขึ้นในสหรัฐ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา โดยขณะนี้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาคิดเป็น 83% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด สูงกว่าระดับ 50% ที่พบในช่วงวันที่ 27 มิ.ย.-3 ก.ค.สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 35 ล้านราย และเสียชีวิตกว่า 626,000 ราย นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตายังได้ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 48% เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้
- (-) ดอลล์แข็งค่าหลังปรับตัวรับข้อมูลศก.-จับตาประชุมเฟด ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ก.ค.) หลังจากนักลงทุนปรับตัวรับการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐที่ลดลงในเดือนก.ค. และนักลงทุนได้เข้าซื้อดอลลาร์ก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.09% แตะที่ 92.9104 เมื่อคืนนี้ ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.1770 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1771 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3752 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3774 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7364 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7387 ดอลลาร์ ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 110.55 เยน จากระดับ 110.14 เยน, แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9202 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9190 ดอลลาร์ และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2575 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2556 ดอลลาร์แคนาดา
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 238.20 จุด ขานรับผลประกอบการแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (23 ก.ค.) และปิดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ รวมถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งได้กระตุ้นให้นักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นในตลาด ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,061.55 จุด เพิ่มขึ้น 238.20 จุด หรือ +0.68%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,411.79 จุด เพิ่มขึ้น 44.31 จุด หรือ +1.01% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,836.99 จุด เพิ่มขึ้น 152.39 จุด หรือ +1.04%
- (-) ผลวิจัยชี้ยา ‘มาซิทินิบ’ อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโควิด-19 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์โมเลกุลพริตซ์เกอร์และห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐพบว่า ยามาซิทินิบ (Masitinib) อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิด-19
- (+/-) ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐต่ำสุดรอบ 4 เดือนในก.ค. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 59.7 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 63.7 ในเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 63.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 62.1 ในเดือนมิ.ย. สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 59.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 64.6 ในเดือนมิ.ย.
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.