คำแนะนำ :
เน้นทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว เปิดสถานะซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงมาใกล้ 1,795-1,791 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,791 ดอลลาร์ต่อออนซ์) หรือหากรับความเสี่ยงได้ไม่มาก หรือ หากถือครองทองคำอยู่แล้วอาจเลือกชะลอการเข้าซื้อ
แนวรับ : 1,791 1,787 1,766 แนวต้าน : 1,818 1,831 1,846
สรุป
ราคาทองคำที่ผ่านมาปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ในระหว่างวันราคาทองคำจะได้รับแรงกดดันจากดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินในวันอังคาร หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.พุ่งขึ้นร้อนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หากเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้นเกิดคาดเช่นกันถึง 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2008 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% ตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สะท้อนจากสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2023 ขณะที่มีแนวโน้ม 90% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2022 ปัจจัยที่กล่าวมา กดดันทองคำให้ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,798.87 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่แรงซื้อ Buy the dip ยังคงแข็งแกร่ง บวกกับนักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ นั่นทำให้ทองคำดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจนปิดตลาดในแดนบวก ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)พร้อมจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย และความชัดเจนเกี่ยวกับการลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE รวมไปถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาทองเคลื่อนไหวผันผวน
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 107.39 จุด วิตกเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้อพุ่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.อาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยความกังวลดังกล่าวได้สกัดปัจจัยบวกจากรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,888.79 จุด ลดลง 107.39 จุด หรือ -0.31% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,369.21 จุด ลดลง 15.42 จุด หรือ -0.35% ดัชนี Nasdaqปิดที่ 14,677.65 จุด ลดลง 55.59 จุด หรือ -0.38%
- (+) สหรัฐฯ ยกระดับคำเตือนสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจในมณฑลซินเจียงของจีน รัฐบาลสหรัฐฯ ยกระดับคำเตือนสำหรับบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจในมณฑลซินเจียงของจีน ที่อาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การบังคับใช้แรงงานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกคำแถลงในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ที่ระบุว่า “เนื่องจากความรุนแรงและขอบข่ายของการละเมิดสิทธิ์ที่ว่านี้ ธุรกิจและบุคคลที่ยังเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน การทำธุรกิจร่วมทุน และ/หรือมีการลงทุนในมณฑลซินเจียง อาจจะต้องรับความเสี่ยงในการละเมิดกฎหมายของสหรัฐฯ ได้” ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยังร่วมกันออกคำเตือนที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับดั้งเดิมที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 2020 โดยมีการระบุว่า บริษัทสัญชาติอเมริกันใดๆ ที่มีการทำธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นไปในรูปแบบ “โดยอ้อม” กับ”เครือข่ายการสอดส่องดูแลที่กว้างขวางและขยายความครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง” ของรัฐบาลจีน บริษัทดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายสหรัฐฯ ได้ เช่นกัน การปรับเปลี่ยนการใช้ภาษาในคำเตือนของหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่แล้วที่ รัฐบาลของประธานาธิบดี โจไบเดน เพิ่มชื่อบริษัทและองค์กรสัญชาติจีน 14 แห่งเข้าไปอยู่ในรายชื่อบัญชีดำของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำการเฝ้าระวังตรวจตราด้วยระบบไฮเทค ในมณฑลซินเจียง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์
- (-) นักลงทุนฟันธงเฟดขึ้นดอกเบี้ยม.ค.66 หลังสหรัฐเผยเงินเฟ้อพุ่งเกินคาด นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2566 หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาดในวันนี้ ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนม.ค.2566 ขณะที่มีแนวโน้ม 90% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.2565
- (-) ดอลล์แข็งค่า หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งหนุนคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งช่วยหนุนคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.54% แตะที่ 92.7538 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.59 เยน จากระดับ 110.33 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9186ฟรังก์ จากระดับ 0.9154ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2518 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2465 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1782 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1857 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3820 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3874 ดอลลาร์
- (+/-) สหรัฐเผยเงินเฟ้อพุ่งเกินคาดในเดือนมิ.ย. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2534 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค.
ขอขอบคุณ: บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.