คำแนะนำ :
เข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือบริเวณ 1,772-1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ (ตัดขาดทุนหากหลุด 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์) และทยอยปิดสถานะทำกำไรหากไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,794-1,796 ดอลลาร์ต่อออนซ์
แนวรับ : 1,761 1,749 1,733 แนวต้าน : 1,796 1,812 1,826
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดทรงตัวแทบไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในระหว่างวัน ราคาทองคำจะขยับขึ้น โดยได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ระบุว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่
วนในช่วงบ่ายตามเวลาไทย ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของเยอรมนีและยูโรโซนที่ออกมาดีเกินคาด นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนเพิ่มจากแรงซื้อทางเทคนิคหลังจากราคามีการ Breakout กรอบสามเหลี่ยม
ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐ และยอดขายบ้านใหม่ที่ออกมาแย่เกินคาด เป็นอีกปัจจัยเพิ่มเติมที่ช่วยหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,794.83 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ดี ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ โดยเผชิญกับแรงขายทำกำไรเมื่อราคาขยับเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ ประกอบกับดัชนีดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นจากถ้อยแถลงของนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอนแลนตา
ที่กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งถึง 7% ในปีนี้ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวขึ้นเหนือเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ซึ่งจากตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ทำให้เขามองว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2022
สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำดิ่งลงจากระดับสูงสุดกว่า 20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนแตะระดับต่ำสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,773.32 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองลดลง -2.91 ตัน
สำหรับวันนี้ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ(บีโออี) และติดตามการเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายจีดีพีไตรมาส 1/2021, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และ รวมถึงติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) สหรัฐเผยยอดขายบ้านใหม่ต่ำสุดรอบ 1 ปีในเดือนพ.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 5.9% สู่ระดับ 769,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 870,000 ยูนิต ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับลดยอดขายบ้านใหม่ในเดือนเม.ย.สู่ระดับ 817,000 ยูนิต จากเดิมรายงานที่ระดับ 863,000 ยูนิต
- (+) ชาวสหรัฐกว่า 1,200 รายกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์-โมเดอร์นา เอกสารจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ระบุว่า มีการรายงานผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 1,200 รายที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา
- มีรายงานว่า วัยรุ่นที่มีอายุ 16-24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา
- ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำนวน 267 รายมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาจำนวน 1 เข็ม และจำนวน 827 รายมีอาการดังกล่าว หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วย 132 รายที่มีอาการเช่นกัน แต่ไม่มีการระบุว่าได้รับการฉีดวัคซีนกี่เข็ม
- (-) สื่อตีข่าวจีน-สหรัฐเตรียมจัดการเจรจาทางการทูตในสัปดาห์หน้า หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดว่า นักการทูตระดับสูงของจีนและสหรัฐมีแนวโน้มจัดการเจรจาในระหว่างการประชุม G20 ในสัปดาห์หน้าที่ประเทศอิตาลี ซึ่งส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศกำลังพยายามผ่อนคลายความสัมพันธ์ที่ตึงเครียด
- รายงานระบุว่า นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และนายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ อาจร่วมหารือกัน นอกจากนี้ สหรัฐยังได้พยายามสร้างความเป็นไปได้ในการจัดการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนด้วยเช่นกัน
- (-) เตือนไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักในยุโรป ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) แถลงในวันนี้ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีการพบครั้งแรกในอินเดีย มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในยุโรป รายงานของ ECDC ระบุว่า เนื่องจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 40-60%
- ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตาจะครองสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 70% ในสหภาพยุโรป (EU) และเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) ภายในต้นเดือนส.ค. และจะสูงถึง 90% ภายในปลายเดือนส.ค.
- (-) ดอลล์แข็งค่าเล็กน้อย หลังจนท.เฟดคาดเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะดีดตัวขึ้น
- ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564
- และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% แตะที่ 91.7995 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.96 เยน จากระดับ 110.62 เยน
- และแข็งค่าเมื่อเทียกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9183 ฟรังก์ จากระดับ 0.9182 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2303 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2320 ดอลลาร์แคนาดา
- ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1928 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1936 ดอลลาร์
- ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3963 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3941 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7573 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7552 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+/-) ข้อมูลศก.ซบฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 71.34 จุด, Nasdaq ทำนิวไฮรับแรงซื้อหุ้นเทคโนฯ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงยอดขายบ้านใหม่ที่ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ปิดทำนิวไฮ
- โดยได้ปัจจัยหนุนจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,874.24 จุด ลดลง 71.34 จุด หรือ -0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,241.84 จุด ลดลง 4.60 จุด หรือ -0.11% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,271.73 จุด เพิ่มขึ้น 18.46 จุด หรือ +0.13%
- (+/-) ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐต่ำสุดรอบ 2 เดือนในมิ.ย. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 63.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 68.7 ในเดือนพ.ค.
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.