คำแนะนำ :
เน้นทำกำไรระยะสั้นจากการที่ราคาแกว่งตัวค่อยๆปรับตัวขึ้น แต่จำเป็นต้องตั้งจุดทำกำไรและจุดตัดขาดทุน โดยอาจรอซื้อในโซน 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์(ตัดขาดทุนหากราคาหลุด 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์)
แนวรับ : 1,717 1,696 1,676 แนวต้าน : 1,759 1,778 1,797
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 7.72 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำเปิดตลาดในช่วงเช้าในแดนลบเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐ ขานรับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานในวันศุกร์ที่ออกมาดีเกินคาด ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,721 ดอลลาร์ต่อออนซในระหว่างวัน ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางกว่าปกติเนื่องจากตลาดจีนปิดทำการในช่วงเทศกาลเชงเม้ง (Tomb Sweeping Day) ส่วนตลาดเงิน ตลาดทุนและตลาดทองคำในออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฮ่องกง และอังกฤษ ยังปิดทำการต่อเนื่องในวัน Easter Monday อย่างไรก็ดี ราคาทองคำเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงตลาดสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยจากความต้องการเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ดัชนีดอลลาร์ อ่อนค่าลง 0.42% สู่ระดับ 92.544 เมื่อคืนนี้จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ แต่การปรับตัวขึ้นของทองคำยังคงถูกสกัดช่วงบวกจากการทะยานขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ขานรับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานและภาคบริการที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นั่นทำให้มีแรงขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยสลับเข้ามาเป็นระยะ ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตําแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTS Job Openings) และการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจาก IBD/TIPPของสหรัฐ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก เหตุนักลงทุนขายดอลล์ซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และได้ขายดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยออกมา ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.44% สู่ระดับ 92.5952 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.17 เยน จากระดับ 110.68 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9362 ฟรังก์ จากระดับ 0.9421 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2523 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2568 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1810 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1762 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3902 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3819 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7652 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7599 ดอลลาร์สหรัฐ
- (+) “เยลเลน” ชี้ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า เป็นการเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19 แม้ว่าบางประเทศประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นางเยลเลนกล่าวว่า ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19
- (+) สหรัฐเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานลดลงมากกว่าคาดในเดือนก.พ. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.5% หลังจากพุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนม.ค.
- (-) ดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 6 ปีในเดือนมี.ค. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 60.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2557 จากระดับ 59.8 ในเดือนก.พ.
- (-) ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐพุ่งเป็นประวัติการณ์ในเดือนมี.ค. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 63.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 55.3 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 59.0
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 373.98 จุด ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (5 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานและภาคบริการที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคลายความวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงต่ำกว่าระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือนที่เข้าทดสอบในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,527.19 จุด เพิ่มขึ้น 373.98 จุด หรือ +1.13%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,077.91 จุด เพิ่มขึ้น 58.04 จุด หรือ +1.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,705.59 จุด เพิ่มขึ้น 225.49 จุด หรือ +1.67%
- (-) “ไบเดน” ไม่วิตกข้อเสนอขึ้นภาษีจะผลักภาคธุรกิจถอนตัวจากสหรัฐ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า เขาไม่มีความวิตกว่าข้อเสนอของเขาในการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% จะทำให้ภาคธุรกิจถอนตัวออกจากสหรัฐ ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และทำให้ภาคธุรกิจถอนตัวออกจากสหรัฐ
- (+/-) สหรัฐห้ามแอสตร้าเซนเนก้าใช้โรงงานผลิตวัคซีนในรัฐบัลติมอร์ แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศห้ามบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเข้าใช้โรงงานผลิตวัคซีนของบริษัท Emergent BioSolutions ในรัฐบัลติมอร์อีกต่อไป หลังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้วัคซีนโควิด-19 ในโรงงานดังกล่าวมีความเสียหายถึง 15 ล้านโดส ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐประกาศให้บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เข้าดำเนินการในโรงงานดังกล่าวแทนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันจะเข้าผิดชอบอย่างสมบูรณ์ในโรงงาน Emergent BioSolutions และบริษัทจะส่งมอบวัคซีนโควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดสให้แก่รัฐบาลสหรัฐภายในสิ้นเดือนพ.ค.
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.