ศูนย์วิจัยทองคำ (GRC) เผย ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565
พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน มกราคม จากระดับ 69.95 จุด มาอยู่ที่ระดับ 70.14 จุด เพิ่มขึ้น 0.19 จุด หรือ คิดเป็น 0.26%
เนื่องจากความต้องการทองคำในฐานะซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ราคาน้ำมัน แรงซื้อเก็งกำไร และ ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ จากกลุ่มตัวอย่าง 308 ราย พบว่า 50% จะซื้อทองคำในเดือนนี้ ขณะที่ 27% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำ หรือไม่ และอีก 23% ยังไม่ซื้อทองคำ
ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ราย โดย 6 รายเชื่อว่าราคาทองคำในเดือน กุมภาพันธ์ จะลดลง ขณะที่ 4 ราย คาดว่าใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน มกราคม ที่เหลือ 3 ราย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนั้น ได้คาดการณ์ราคาทองคำในเดือน กุมภาพันธ์ ดังนี้
Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,765 – 1,861 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 27,900 – 29,000 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.73 – 33.67 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า การลงทุนทองคำในช่วงนี้ยังต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสถานการณ์มีความพลิกผันได้ตอบเวลา โดยเฉพาะความตรึงเครียดระหว่าง รัสเซีย และยูเครน ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังมีกระแสข่าวว่ารัสเซียเตรียมบุกยูเครนในสัปดาห์นี้ ทำให้ราคาทองคำพุ่งแต่ 1,865 ดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อย
ขณะที่ เรื่องของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งสูง ระยะสั้น ได้หนุนราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง แต่สุดท้ายคงต้องไปรอฟังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยมากน้อยเพียงไร และปี้นี้จะขึ้นกี่ครั้ง เพราะในประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำโดยตรง แต่ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่มาก แต่ตัวเลขเงินเฟ้อยังสูงอยู่ ก็จะส่งผลดีต่อราคาทองคำ
ในช่วงนี้คงต้องไปจับตาดูสถานการณ์ของ รัสเซีย กับ ยูเครน ว่าจะลงเอยอย่างไร
หากว่าไม่มีอะไรคืบหน้ามาก คาดว่าราคาทองคำอาจจะลงมาพักฐานในกรอบ 1,830-1,850 ดอลลาร์ แต่หากรัสเซียบุกยูเครนจริงตามที่เป็นข่าว อาจจะทำให้ราคาทองคำพุ่งแรง
เพราะปัญหาที่จะเกิดตามมา จะโยงไปยังหลาย ๆ ส่วน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และราคาพลังงาน เพราะรัสเซียถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานสำคัญที่ส่งไปยังยุโรป
นอกจากนั้น การที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ก็จะยิ่งดันเงินเฟ้อให้พุ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับอีกหลายภาคส่วน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.