ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองผลการประชุม FOMC ของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อคืนนี้ (21-23 ก.ย.) ได้สะท้อนสัญญาณเตรียมลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ในปีนี้ และได้เพิ่มโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปี 65 ตามภาพสะท้อนของ Dot Plot ล่าสุด แม้จะยังคงต้องรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของ โควิด-19 อีกที
ทั้งนี้ หลังผลประชุมดังกล่าวออกมา ทำให้ในช่วงเช้าวันนี้ (23 ก.ย.) เงินบาทได้อ่อนค่าทดสอบแนว 33.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา
ทำให้มองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง สะท้อนข่าวการทำ QE tapering ไปค่อนข้างมากแล้ว และทำให้โอกาสการอ่อนค่าเพิ่มเติมของเงินบาทในระยะข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะออกมาดีกว่าคาดหรือไม่ เพียงใด หากตัวเลขเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะย่อตัวลงมาได้เช่นกัน
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 64 จะอยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือ การปรับลดมาตรการ QE ของเฟด และสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ
โดยหากประเมินภาพจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และ ไทยแล้ว สัญญาณการเตรียมลด QE ก่อนสิ้นปี 64 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี
CR : การเงินธนาคาร
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.