มาติดตามผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยนายกฯ ระบุว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉิน ระยะที่ 1 อย่างเคร่งครัด ขอให้ปฏิบัติต่อไป ห้ามละเลย และให้ ศบค. รายงานถึงผลกระทบภายหลังการผ่อนคลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงพิจารณาแนวทางการแก้ไข โดยในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และพิจารณาเรื่องการเปิดเรียน
ด้านกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่า ยังมีความจำเป็นต้องคงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าจากต่างประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ในไทยจะดีขึ้นตามลำดับ แต่สถานการณ์โลกยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
ส่วนมาตรการผ่อนปรน หลังจากที่ได้เริ่มไปแล้วบางส่วนเมื่อ 3 พฤษภาคม และจะเริ่มระยะที่ 2 กำลังมีการดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ระดมความคิดเห็นจากส่วนราชการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนที่ 2 จัดประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการบังคับใช้มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2
ขั้นตอนที่ 3 ยกร่างข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 และขั้นตอนที่ 4 บังคับใช้มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
ก่อนหน้านี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่าหากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อดีขึ้นเรื่อย ๆ ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้แน่นอน โดยทุกคนจะกลับไปสู่ภาวะปกติของการใช้ชีวิต ที่จะได้มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมเหมือนเดิม โดยช่วงระยะเวลาไทม์ไลน์ คือ 8-12 พ.ค.รับฟังความคิดเห็น วันที่ 13 พ.ค.ซักซ้อมความเข้าใจ วันที่ 14 พ.ค.ยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะที่สอง วันที่ 17 พ.ค.เริ่มผ่อนปรนระยะที่สองในแต่ละธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เจาะจงเฉพาะห้างสรรพสินค้า โดยผู้ประกอบการก็ต้องเป็นผู้ที่คิด ร่วมพูดคุยกับทางสมาคมหรือองค์กร แล้วทำข้อคิดเห็น รวมถึงมาตรการการตรวจสอบด้วย ก็จะทำให้การทำงานร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว แต่ไม่ได้ขึ้นกับภาคธุรกิจ หรือภาครัฐเพียงอย่างเดียว ประชาสังคมและประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย
Comments are closed.