คำแนะนำ : ราคายังมีโอกาสทดสอบแนวต้านโซน 1,593-1,598 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยให้ดูแรงซื้อแรงขายในช่วงนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่หากราคาอ่อนตัวลงสามารถยืนเหนือ 1,573-1,565 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แนะนำเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวในกรอบ
แนวรับ : 1,573 1,565 1,556 แนวต้าน : 1,598 1,612 1,624
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 11.72 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ราคาทองคำจะทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,593.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขายในตลาดเอเชีย แต่ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้
โดยได้รับแรงกดดันหลังธนาคารกลางจีนประกาศอัดฉีดเม็ดเงิน 1.2 ล้านล้านหยวนเข้าสู่ระบบการเงินวานนี้ เพื่อสกัดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จึงช่วยลดทอนความวิตกกังวลในตลาดไปได้บางส่วน
ส่งผลให้เกิดแรงขายเข้าสู่ตลาดทองคำที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ประกอบกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐ จาก ISM พุ่งขึ้นเกินคาดสู่ระดับ 50.9 ในเดือน ม.ค. แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2019 สะท้อนภาคการผลิตสหรัฐกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน
จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 140 จุดจนกดดันทองคำ ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขานรับการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่ดีเกินคาดเช่นกัน
ส่วนปอนด์ดิ่งลงเทียบดอลลาร์หลังนักลงทุนไม่มั่นใจว่าอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) จะบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ภายในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนจึงช่วยสร้างแรงหนุนให้กับดอลลาร์เพิ่มเติม สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน และการสำรวจความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจาก IBD/TIPP
ปัจจัยทางเทคนิค :
แม้ว่าราคาจะสร้างระดับสูงสุดใหม่จากสัปดาห์ก่อนหน้า แต่กรอบแนวต้านด้านบนจำกัด หากยังสามารถไม่สามารถยืนเหนือโซน 1,593-1,598 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จะทำให้เกิดการอ่อนตัวลง
โดยประเมินแนวรับบริเวณที่ 1,573-1,565 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากสามารถยืนเหนือโซนแนวรับดังกล่าวได้ประเมินว่าเป็นเพียงแรงขายทำกำไรระยะสั้น
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำลงทุนในกรอบราคา โดยเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลงและสามารถยืนเหนือโซน 1,573-1,565 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างแข็งแกร่ง
ตัดขาดทุนหากราคาหลุดแนวรับบริเวณ 1,565 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแบ่งขายทำกำไรหากราคาทองคำไม่ผ่านแนวต้านบริเวณ 1,593-1,598 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) จีนยืนยันยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาพุ่งขึ้นเป็น 425 ราย, ยอดติดเชื้อเพิ่มเป็น 20,438 รายคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงยืนยันว่า ณ วันจันทร์ที่ 3 ก.พ.มีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีนเพิ่มขึ้นอีก 64 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 425 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3,235 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 20,438 ราย รายงานของ NHC ระบุว่า ผู้ที่เสียชีวิตรายใหม่ทั้งหมด 64 ราย ณ วันจันทร์ที่ 3 ก.พ. นั้น เป็นผู้ป่วยในมณฑลหูเป่ย ส่วนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลหลังจากมีอาการดีขึ้นแล้วนั้น อยู่ที่ 632 ราย
- (+) สหรัฐเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลงในเดือนธ.ค. สวนทางคาดการณ์ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.2% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนธ.ค.
- (-) ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก ขานรับภาคการผลิตสหรัฐฟื้นตัว ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฟื้นตัวขึ้นในเดือนม.ค. หลังจากที่หดตัวลงติดต่อกัน 5 เดือน ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.68 เยน จากระดับ 108.35 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9660 ฟรังก์ จากระดับ 0.9635 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3295 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3234 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1063 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1087 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2997 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3198 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6688 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6694 ดอลลาร์สหรัฐ
- (-) ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐขยายตัวในเดือนม.ค. หลังหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 47.8 ในเดือนธ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.5 ดัชนีอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน
- (-) ดาวโจนส์ปิดบวก 143.78 จุด ขานรับภาคการผลิตสหรัฐฟื้นตัว,หุ้นเทคโนฯพุ่งแรงดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตสหรัฐ และราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ทรุดตัวลงในสัปดาห์ที่แล้ว อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,399.81 จุด เพิ่มขึ้น 143.78 จุด หรือ +0.51% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,248.92 จุด เพิ่มขึ้น 23.40 จุด หรือ +0.73% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,273.40 จุด เพิ่มขึ้น 122.47 จุด หรือ +1.34%
- (-) บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัว ขานรับภาคการผลิตแกร่ง หลังจากหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้นในวันนี้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัวในเดือนม.ค. หลังจากหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.554% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.041%
Comments are closed.