ลงทุนระยะสั้น อาจใช้บริเวณ 1,717-1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดให้ชะลอการเข้าซื้อไปยังโซนแนวรับถัดไปที่ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (YLG)
19-6-20
คำแนะนำ :
หากราคายืนเหนือ 1,717-1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดสถานะซื้อเพื่อลงทุนระยะสั้น(ตัดขาดทุนหากหลุด 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์) แต่หากราคาทองคำดีดตัวขึ้นยังไม่สามารถยืนเหนือ 1,735-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจพิจารณาทยอยปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไร
แนวรับ : 1,712 1,700 1,689 แนวต้าน : 1,735 1,746 1,754
ปัจจัยพื้นฐาน :
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 3.87 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ในระหว่างวันราคาทองคำจะพุ่งขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,737.73 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำกลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยได้รับแรงกดดันจากแรงขายทำกำไร ขณะที่นักลงทุนบางส่วนขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยออกมา หลังมีรายงานว่าการระบาด COVID-19 ระลอกล่าสุดในปักกิ่งอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว ประกอบกับสกุลเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงซื้อสกุลเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในสหรัฐยังคงน่าวิตก ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย, แอริโซนา และฟลอริดาของสหรัฐ รายงานการเพิ่มขึ้นรายวันครั้งใหญ่ที่สุดของยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่นับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของราคาทองคำยังคงอยู่ในกรอบจำกัดเช่นเดียวกัน โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.3 ล้านราย ขณะที่ความวิตกเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในสหรัฐยังคงช่วยพยุงราคาทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยไว้อีกทางหนึ่ง สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ แต่แนะนำติดตามถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่มีกำหนดจะเข้าร่วมการอภิปรายกับนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ในเวลาเที่ยงคืนของคืนวันนี้
ปัจจัยทางเทคนิค :
หากราคายืนเหนือบริเวณแนวรับ 1,717-1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ราคาอาจพยายามขึ้นไปทดสอบแนวต้าน 1,735-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เมื่อราคาปรับตัวขึ้นอาจมีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามา โดยหากสามารถยืนเหนือแนวต้านแรกโซน 1,735-1,737 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้(ระดับสูงสุดวานนี้) จะเกิดซื้อดันให้ราคาทดสอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน :
แนะนำการเปิดสถานะซื้อลงทุนระยะสั้น โดยอาจใช้บริเวณ 1,717-1,712 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดให้ชะลอการเข้าซื้อไปยังโซนแนวรับถัดไปที่ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์(จุดตัดขาดทุน) ขณะที่หากราคาดีดตัวขึ้นแนะนำทยอยแบ่งปิดสถานะทำกำไรตั้งแต่โซนราคา 1,735-1,746 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 39.51 จุด ผิดหวังตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงเกินคาด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (18 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังต่อตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่สูงเกินคาด รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐและจีน อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธุรกิจสินค้าผู้บริโภค ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,080.10 จุด ลดลง 39.51 จุด หรือ -0.15% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,115.34 จุด เพิ่มขึ้น 1.85 จุด หรือ +0.06% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,943.05 จุด เพิ่มขึ้น 32.52 จุด หรือ +0.33%
- (+) รัฐแคลิฟอร์เนีย,แอริโซนา,ฟลอริดาของสหรัฐรายงานยอดผู้ติดโควิด-19 พุ่งรายวันสูงสุด รัฐแคลิฟอร์เนีย, แอริโซนา และฟลอริดาของสหรัฐรายงานการเพิ่มขึ้นรายวันครั้งใหญ่ที่สุดของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 นับตั้งแต่การระบาดเริ่มขึ้น ขณะที่รัฐต่างๆเพิ่มการตรวจหาเชื้อ และโควิด-19 กระจายไปถึงชุมชนใหม่ๆ รัฐแอริโซนารายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,519 คน ขณะที่รัฐฟลอริดารายงาน 3,207 คน และแคลิฟอร์เนียรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,084 คน ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่โควิด-19 แพร่ไปถึงภาคใต้และตะวันตกของอเมริกา
- (+) “ทรัมป์” ขู่ตัดสัมพันธ์จีนอีกรอบหลังการเจรจาระดับสูงสหรัฐ-จีน เมื่อวานนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐขู่ตัดสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง ในช่วง 1 วันหลังจากที่นักการทูตระดับสูงของเขาจัดการเจรจากับจีนและผู้แทนการค้าของเขาระบุว่า เขาไม่ได้พิจารณาว่า การตัดขาดทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนเป็นทางเลือกที่ปฏิบัติได้
- (+) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานสูงกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.5 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.3 ล้านราย
- (-) Conference Board เผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจดีดตัวในเดือนพ.ค. Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ดีดตัวขึ้น 2.8% สู่ระดับ 99.8 ในเดือนพ.ค. หลังจากดิ่งลง 6.1% ในเดือนเม.ย. และร่วงลง 7.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดในรอบ 60 ปีที่มีการรายงานตัวเลขดังกล่าว
- (-) เฟดฟิลาเดลเฟียเผยดัชนีภาวะธุรกิจมิด-แอตแลนติกพุ่งขึ้นในเดือนมิ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 27.5 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ -43.1 ในเดือนพ.ค.
- (-) ปอนด์อ่อนค่าหลังแบงก์ชาติอังกฤษคงดอกเบี้ย,ขยายวงเงิน QE เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และขยายวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ส่วนดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ในสหรัฐ เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2419 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2537 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1207 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1229 ดอลลาร์ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9510 ฟรังก์ จากระดับ 0.9496 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 106.82 เยน จากระดับ 107.09 เยน ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% สู่ระดับ 97.4271 เมื่อคืนนี้
- (+/-) แบงก์ชาติอังกฤษคงดอกเบี้ยตามคาด ขณะขยายวงเงิน QE รับมือโควิด ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ โดย BoE มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% นอกจากนี้ BoE ยังประกาศขยายวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1 แสนล้านปอนด์ สู่ระดับ 7.45 แสนล้านปอนด์ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)