ราคาทองคำ เหวี่ยงแรง แตะ 1,841 ดอลลาร์ หลังดัชนี CPI สหรัฐฯ เดือน ม.ค. แตะ 7.5 %
ทำให้คาดการณ์ว่า เฟด จะขยับดอกเบี้ยขึ้น 0.5% ในเดือน มี.ค. ก่อนที่ราคาทองคำจะถูกกดดันจาก บอนด์ยีลด์ที่พุ่งทะลุเหนือ 2% ทำให้ราคาร่วงลงมาปิดตลาดแถว 1,826 ดอลลาร์
แต่นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้ ยังไม่เห็นสัญญาณขาลง
ส่วนราคาทองคำไทยลดลง 50 บาท หลังเงินบาทแข็งค่าหนัก
ราคาทองคำ วานนี้แกว่งตัวผันผวนในกรอบประมาณ 20 ดอลลาร์ หลังสหรัฐฯ เผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ผู้บริโภค เดือน ม.ค. พุ่งขึ้น 7.5% เมื่อเทียบรายปี สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.1982 ทำให้ราคาทองคำพุ่งทะยานไปทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ที่บริเวณ 1,841 ดอลลาร์
อย่างไรก็ดี จากตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นได้กระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย สะท้อนจาก Fed Watch Tool ที่ปรับตัวรับโอกาสถึง 85% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. ในระดับ 0.50% เพิ่มขึ้นจากเดิมระดับ 14% ในช่วงก่อนการเปิดเผยตัวเลข CPI
นอกจากนี้ ราคาทองคำยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากถ้อยแถลงของ ประธานเฟดเซนต์หลุยส์ ที่ระบุ ต้องการให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 1% ภายในวันที่ 1 ก.ค. นี้ หรือ ภายใน 3 การประชุมนโยบายการเงิน 3 ครั้งถัดไป
คำพูดดังกล่าวหนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ดีดตัวเหนือ 2.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง จนเป็นปัจจัยกดดันทองคำให้ร่วงลงกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 1,826 ดอลลาร์ ลดลงไป 6.51 ดอลลาร์
ขณะที่ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ราคาทองคำยังเคลื่อนไหวแนว 1,825 ดอลลาร์ โดยมีบางช่วงได้ลงไปแตะ 1,822 ดอลลาร์ ก่อนจะดีดตัวขึ้นมาเล็กน้อย
โดย เอ็ดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA กล่าวกับ KItco news ว่า ราคาทองคำยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 1,800 ถึง 1,850 ดอลลาร์ จนกว่า เฟดจะมีความชัดเจนว่า จะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไป แต่หาก บอนด์ยีลด์ ยังทะลุระดับ 2 % ทองคำอาจจะถูกกดดันในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสิ่งใดที่จะส่งสัญญาณการเริ่มต้นของแนวโน้มขาลงของราคาทองคำ เพราะอัตราเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากขึ้น และทองคำก็จะถูกนำมาเป็นสินทรัพย์ในการป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
ส่วนราคาทองคำในประเทศ ที่ประกาศโดยสมาคมค้าทองคำ
เช้านี้ขยับลดลง 50 บาท ทำให้ราคารับซื้อล่าสุดอยู่ที่ บาทละ 28,200 บาท ขณะที่ราคาขายออก อยู่ที่บาทละ 28,3 00 บาท ( ดูตารางราคาทองคำของสมาคมค้าทองคำ )
ทั้งนี้ ราคาทองคำในประเทศ ยังถูกกดดันจากเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง
มากสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง และระยะสั้นแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าได้ต่อ หลังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตร
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ ซื้อ-ขาย หรือ ลงทุน หรือ เป็นเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ และอาจจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldAround.com ทั้งนี้ ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และ หรือ ความเสียหาย ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.