11-05-20
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 12.06 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐออกมาดีเกินคาด ทั้งนี้ การจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือน เม.ย. แม้เป็นตัวเลขการจ้างงานแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจร่วงลงถึง 22 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือน เม.ย. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 16.0% เช่นกัน
นอกจากนี้ ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากการทะยานขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความคาดหวังเชิงบวกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น หลังหลายรัฐของสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลกกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ประกอบกับนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนลงชั่วคราว หลังเจ้าหน้าที่การค้าของทั้ง 2 ประเทศ เห็นพ้องว่า จะปฏิบัติตามพันธสัญญาของข้อตกลงการค้าเฟส 1
อย่างไรก็ดี ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แม้จะเผชิญกับปัจจัยลบ ส่วนหนึ่งเพราะราคาได้รับแรงหนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินและการคลังทั่วโลก ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งราคายังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า ETF ทองคำต่อเนื่อง นำโดยกองทุน SPDR ที่ถือครองทองคำเพิ่มในวันศุกร์ 5.85 ตันสู่ระดับ 1,081.65 ตัน ทำให้ในปี 2020 กองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่มแล้วถึง 188.40 ตัน
ส่วนการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในวันนี้ หากการอ่อนตัวลงของราคาทองคำยังสามารถรักษาระดับเหนือบริเวณแนวรับ 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ อาจจะเห็นการดีดตัวกลับขึ้นไปบริเวณแนวต้าน 1,717-1,723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับ 1,690 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จะทำให้ราคายังคงอ่อนตัวลง โดยมีแนวรับถัดไปที่ 1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของสัปดาห์ก่อนหน้า)
กลยุทธ์การลงทุนในวันนี้ แนะนำเน้นการเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลงไม่หลุดแนวรับ เพราะหากราคาทองคำยังคงพยายามยืนเหนือโซน 1,690-1,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ทำให้ราคายังคงมีโอกาสขยับขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้านอีก 1,717-1,723 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง