Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

ราคาทองคำพุ่งแตะ $1,817 หลังดอลลาร์อ่อนค่าและปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก

- Advertisement -

495

- Advertisement -

หลังจากที่ราคาทองคำได้ทดสอบระดับ 1,796 ดอลลาร์ ถึง 5-6 รอบตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และเมื่อช่วงหัวค่ำยังขึ้นมาทดสอบอีก 2 รอบ ในที่สุด ราคาทองคำได้ทะลุแนวต้านระดับ 1,800 ดอลลาร์ ไปได้ ก่อนไปทำจุดสูงสุดที่ 1,817 ดอลลาร์

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จาก Kitco news ระบุว่า ราคาทองคำได้แตะระดับสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ โดยราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการลดลงของดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุด ( 22.50 น.) แตะ 91.002 และ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี อยู่ที่ 1.57 %

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ที่อาจจะกลายเป็นปัญหาในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จึงเกิดแรงกระตุ้นให้เข้าซื้อทองคำ ทำให้ส้ญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ตลาด COMEX ล่าสุด ( 22.50 น.) พุ่งขึ้น 1.78% แตะระดับ 1,815 ดอลลาร์

ทั้งนี้ หลังจากที่ราคาทองคำทะลุผ่านแนวต้านที่ 1,799 ดอลลาร์ ไปได้ ทำให้มีสัญญาณบวกที่อาจจะทำให้ราคาทองคำมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 1,827 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดเมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา และแนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ระดับ 1,834 ดอลลาร์ ขณะที่จุดสูงสุดเดิมที่ 1,799 ดอลลาร์ จะกลายเป็นแนวรับแรก และแนวรับถัดไปจะอยู่แถว 1,785 ดอลลาร์

ไปดูการวิเคราะห์ด้าน Technical ของราคาทองคำกันบ้าง บทวิเคราะห์ของ Ausiris ระบุว่า ทองคำมีแรงซื้อกลับขึ้นมาจากบริเวณแนวรับ 1,771 ดอลลาร์ และกำลังวิ่งขึ้นไปทดสอบแนวต้าน High เดิม 1,798 ดอลลาร์ อีกครั้ง คาดว่าราคากำลังแกว่งตัว sideways เพื่อรอ break out กรอบด้านใดด้านหนึ่งออกไป แนะนำหาจังหวะขายเมื่อราคาดีดตัวขึ้นไม่ผ่านแนวต้าน 1,798 และ1,816 ดอลลาร์ และเข้าซื้อเมื่อราคาย่อตัวเข้าใกล้แนวรับ 1,771 และ 1,756 เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น

- Advertisement -

ส่วนประเด็นข่าวที่น่าสนใจวันนี้ ได้มีการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% และ คงวงเงินในการซื้อพันธบัตร ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 8.95 แสนล้านปอนด์ (1.2 ล้านล้านดอลลาร์) อย่างไรก็ดี BoE ส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE สู่ระดับ 3.4 พันล้านปอนด์ ต่อสัปดาห์ ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. จากปัจจุบันที่ระดับ 4.4 พันล้านปอนด์ต่อสัปดาห์

นอกจากนั้น BoE ยังได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะมีการขยายตัวระดับ 5% เป็น 7.25% และคาดว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะขยายตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ เร็วกว่าเดิมที่คาดไว้ในไตรมาสแรกของปีหน้า แต่ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวในปีหน้าสู่ระดับ 5.75% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 7.25

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ราคาอาหารทั่วโลกในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 120.9 จุด จากเดือน มี.ค. อยู่ที่ 118.9 จุด ซึ่งปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 2557 นอกจากนี้ FAO ยังคาดการณ์ด้วยว่า ผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงนี้

หุ้นกลุ่มบริษัทผลิตวัคซีน ทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา และโนวาแว็กซ์ ได้ลดลง 4-10% หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน สนับสนุนให้สหรัฐยกเว้นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีน โควิด-19 เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าว โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความชื่นชมต่อการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ เพราะจะทำให้ประเทศที่ยากจน สามารถเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 ได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวยังต้องผ่านกระบวนการอีกมาก โดยสมาชิกทั้ง 164 ประเทศขององค์การการค้าโลก จะต้องให้ความเห็นชอบ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยาทั่วโลกต่างเตือนว่า การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการรับมือกับโรคระบาด

- Advertisement -

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว ลดลงสู่ระดับ 498,000 ราย ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ที่ระดับ 540,000 ราย อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในสหรัฐฯ

หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ซื้อ-ขาย หรือลงทุน หรือเป็นเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ และอาจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldAround.com ทั้งนี้ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และหรือ ความเสียหายที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More