ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เราจะได้ยินคำว่า ภาวะ Death Cross ในตลาดทองคำ และถือเป็นครั้งแรกทีเกิดขึ้นนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561 หลังจากสัญญาทองคำเคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะเวลา 50 วันที่ระดับ 1,856.46 ดอลลาร์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะเวลา 200 วันที่ระดับ 1,857.67 ดอลลาร์
นางสาว ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG อธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า Death Cross เป็นศัพท์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่แสดงสภาวะของตลาดว่ากำลังมีแนวโน้มขาลง โดยแนวโน้มดังกล่าวเกิดจาก “เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสั้น ตัดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาว” ซึ่งค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาวนั้น นิยมใช้ 200 วัน(SMA 200) ขณะที่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสั้นนั้น อาจใช้ 50(SMA 50)ล่าสุดเกิดสัญญาณ death cross ในราคาทองคำในวันที่16 ก.พ. 2021 และถือเป็นครั้งแรกที่ราคาทองคำเกิดสัญญาณ death cross นับตั้งแต่ปี 2018
หากย้อนกลับไปดูสถิติในอดีตนับตั้งแต่ 2009 พบว่าเกิดสัญญาณ death cross ในทองคำทั้งหมด 7 ครั้ง (ไม่นับครั้งล่าสุด)และสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้
I. 6 ใน 7 ครั้งของการเกิดสัญญาณ death cross ราคาทองคำมีแนวโน้มจะทำ Low ที่ต่ำกว่าวันที่เกิดdeath cross โดยมีค่าเฉลี่ยของการปรับตัวลดลงเกือบ 11% จากราคาปิดของวันแรกที่สัญญาณดังกล่าวเกิดขึ้น
II. มี 1 ครั้ง ของการเกิดสัญญาณ death cross คือ ในวันที่ 10 ก.พ. 2012 ที่ราคาทองคำฟื้นขึ้น ในทันทีและไม่ทำ Low ที่ต่ำกว่าวันที่เกิด death cross ซึ่งถือเป็น False Signal
III. 5 ใน 7 ครั้งของการเกิดสัญญาณ death cross แม้ราคาทองคำจะมีการปรับตัวลงทำระดับต่ำสุด แต่ก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ จนกลับมาให้ผลตอบแทนเป็นบวกอีกครั้งในวันที่กลับมาเกิด Golden Cross
IV. มีเพียง 2 ครั้ง ของการเกิดสัญญาณ death cross ที่ราคาทองคำปรับตัวลงต่ออย่างมาก กินระยะเวลายาวนาน และกลายเป็นขาลงชัดเจน คือ สัญญาณ death cross ที่เกิดในวันที่19 ก.พ. 2013 และอีกครั้ง ในวันที่ 18 ก.ย. 2014
“แม้การเกิด Death Cross จะสามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มขาลงของตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับต้องตื่นตระหนกแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่การเกิด Death Cross ส่งผลกดดันราคาทองคำก็จริง แต่ก็มีแนวโน้มมากกว่าที่ราคาทองคำจะมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นในที่สุด ที่สำคัญ คือ ไม่ใช่การเกิด Death Cross ทุกครั้งที่ราคาจะกลายเป็นแนวโน้มขาลงชัดเจน”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร YLG เปิดเผบกับ GoldAround
ดังนั้นหาก “History Repeat Itself” นักลงทุนทองคำอาจรอจังหวะที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง เพื่อใช้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อเพื่อทำกำไรจากราคาทองคำที่มีแนวโน้มดีดตัวขึ้น
แน่นอนว่าสัญญาณที่เกิดขึ้น จะย้ำเตือนให้นักลงทุนที่ถือครองทองคำในปริมาณมากควรหาจังหวะลดสถานะลงบ้างเพื่อรอซื้อ ในระดับราคาที่ต่ำกว่าและอาจเป็นการย้ำเตือนว่าการเข้าซื้อ ทองคำในปีนี้ แตกต่างจากปี 2020 จึงควรเน้นเล่นรอบเพื่อทำกำไรระยะสั้นเป็นหลัก โดยเข้าซื้อ เมื่อราคาปรับตัวลดลงเท่านั้น พร้อมประเมินความเสี่ยงที่ตนเองรับเพื่อกำหนดมูลค่าการลงทุนที่เหมาะสม
ที่สำคัญคือต้องกำหนดจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง หากราคาไม่เป็นไปตามคาดการณ์
ขอบคุณข้อมูล : YLG
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.