ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22-27 ก.พ.) ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดแตะระดับ 1,717 ดอลลาร์ (26 ก.พ.) ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ขณะที่ในภาพรวมตลอดทั้งสัปดาห์ราคาทองคำได้ลดลง 50 ดอลลาร์ จากที่เปิดตลาดวันวันที่ 22 ก.พ.ที่ระดับ 1,784 ดอลลาร์ ก่อนขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,816 ดอลลาร์ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ก่อนจะทิ้งลงแรงมาแตะ 1,717 ดอลลาร์ในวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งในวันดังกล่าวราคาทองคำลดลงแรงถึง 62 ดอลลาร์ ก่อนที่จะมีแรงรีบาวด์กลับมาปิดตลาดที่ 1,734 ดอลลาร์ (ดูชาร์ตราคาทองคำ..)
“การลดลงของราคาทองคำในวันสุดท้ายของสัปดาห์ แม้ราคาทองคำจะลดลงมาแรงแต่ยังโชคดีที่ในช่วงท้ายตลาด บอนด์ยีลด์ (Bond Yield) หรืออัตราผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตร ได้ลดลงมาแตะที่ระดับ 1.4 % หลังจากได้ปรับตัวขึ้นมามาก จากช่วงต้นปีอยู่ที่ระดับ 0.8% มาแตะที่ 1.5% มิฉะนั้นอาจจะเห็นราคาทองคำร่วงลงมากกว่านี้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าราคาทองคำจะยังได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากที่ราคาทองคำร่วงหลุดแนว 1,760-1,765 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวของ FIBO 50 ทำให้ภาพรวมดูไม่ดี และหากราคาทองคำยังปรับลดลงหลุด 1,600 ดอลลาร์คงจะต้องมาพิจารณาภาพรวมอีกครั้ง”
นายธีรรัฐ จุฑาวรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด กล่าวกับ GoldAround.com
อย่างไรก็ดีในระยะสั้นเชื่อว่าราคาทองคำอาจจะมีแรงรีบาวด์ขึ้นแตะ 1,740 ดอลลาร์ ก่อนที่อาจจะปรับลดลงมาอีก และอาจจะได้เห็นราคาทองคำลงไปแตะระดับ 1,680 ดอลลาร์ ในช่วงนี้แนะนำให้เป็น Short ตามเทรนด์ของราคาทองคำ แต่ที่สำคัญจะต้องตั้ง Stop loss (SL) ทุกครั้ง แต่หากยอมรับกับความเสี่ยงไม่ได้อยากให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในระยะนี้ไว้ก่อน
“ส่วนกลยุทธ์การลงทุนทองคำในวันจันทร์ ( 1 มี.ค.) หากจะเข้า Short ขอให้ตั้ง SL ไว้ที่ 1,760 ดอลลาร์ เพราะหากราคาทองคำสามารถขึ้นไปยืนเหนือ 1,765 ดอลลาร์ได้ ภาพรวมของราคาทองคำก็จะกลับไปเป็นอีกมุม ทั้งนี้ยังมองว่าราคาทองคำขณะนี้น่าเข้าซื้อเก็บเพื่อลงทุนในระยะกลางถึงยาว เนื่องจากราคาทองคำได้ปรับลดลงมามากแล้ว และในภาพใหญ่ของราคาทองคำยังยืนยันว่าเป็นขาขึ้น”
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด กล่าว
ทั้งนี้แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนอาจจะมองว่า ราคาทองคำเริ่มเป็นขาลงหลังสถานการณ์เรื่องการแพร่ระบาดของ ไวรัส โควิด -19 จะดีขึ้น จะทำให้การฟื้นตัวของศก.กลับมาได้ แต่ปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ คือเรื่องของเงินเฟ้อ และอาจจะเป็นเงินเฟ้อที่รุนแรงมากครั้งหนึ่งในประวัตศาสตร์ ซึ่งขณะนี้สัญญาณการมาของเฟ้อเริ่มปรากฏ โดยดูได้จากการปรับตัวสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ได้พุ่งขึ้นไปแตะ 61 ดอลลาร์ต่อบาเรล
สิ่งที่ FED กำลังกลัวขณะนี้คือเรื่องของ “ไฮเปอร์ อินเฟรชั่น” ซึ่งจะต้องดูว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการในการควบคุมอย่างไร แม้ว่าที่ผ่านมานโยบายของ เฟด อาจจะระบุว่าพร้อมที่จะให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งไปแตะระดับ 2 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น แต่เมื่อปัจจัยโดยรอบได้คุกคามเข้ามา ทำให้คาดว่า เฟด จะต้องมีนโยบายเพิ่มเติมออกมาในเร็วๆ นี้ อาจจะหมายถึงการขยับขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นได้เช่นกัน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะย้อนไปดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าราคาได้ลดลงจากช่วงต้นปีที่อยู่ในระดับ 1,600 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 1,450 ดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ซึ่งราคาทองคำได้อยู่ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.ก่อนจะพุ่งแตะระดับ 1,600 ดอลลาร์ และพุ่งขึ้นแรงจนไปทำสถิติสูงสุดในช่วงเดือนสิงหาคม และคาดว่าสถานการณ์ปีนี้ก็อาจจะไม่แตกต่างกัน
เพราะเมื่อดูความแตกต่างในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้กับปีที่ผ่านมา คือ ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เริ่มมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบ บอนด์ยีลด์อยู่ที่ระดับ 1.2 % ราคาน้ำมันดิบร่วง แต่ในปีนี้การระบาดเริ่มลดลง ผลจากการอัดฉีดเงินขนานใหญ่ในช่วงที่ผ่านมากำลังจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อ เพราะปริมาณเงินอยู่ในระบบจำนวนมาก และบอนยีลด์อยู่ที่ระดับ 1.5 % ราคาน้ำมันดิบพุ่ง
“เมื่อนำสถานการณ์ทั้ง 2 มาเปรียบเทียบกันทำให้มองว่าหลังจากที่ราคาทองคำจะลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว ก็จะอาจจะมีการดีดกลับแรง และกลับยืนในระดับสูงแถวกว่า 1,900 ดอลลาร์ หรือขึ้นไปแตะ 2,000 ดอลลาร์ มีความเป็นไปได้ แต่คงจะไม่เห็นในเร็วๆนี้ โดยอาจจะต้องใช้เวลาอีก 4-6 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งจะต้องมาดูนโยบายของ FED ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้ออย่างไร เพราะหากจะให้วิธีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่อาจจะลดลงแรงมาก และจะทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย และทองคำอาจจะกลับมาทำหน้าที่เป็นแหล่งหลบภัยอีกครั้ง”
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณข้อมูล : บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด
Comments are closed.