Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 4 มี.ค.65 by YLG

- Advertisement -

424

- Advertisement -

คำแนะนำ       เปิดสถานะซื้อ 1,922-1,914

จุดทำกำไร     ขายเพื่อทำกำไร $1,950-1,958

ตัดขาดทุน     ตัดขาดทุนสถานะซื้อหากหลุด $1,895

แนวรับ : 1,914 1,895 1,873  แนวต้าน : 1,958 1,975 1,997

สรุป

- Advertisement -

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.55 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังคงได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนรวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่รัสเซียถูกนานาประเทศคว่ำบาตรฐานใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน ล่าสุดฝ่ายรัสเซียยังคงมีจุดยืนที่แข็งกร้าวแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงจัดการเจรจาร่วมกันก็ตาม สะท้อนจากความเห็นของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี มาครง ผู้นำฝรั่งเศสว่า ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เป้าหมายของรัสเซียในการใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนจะต้องประสบความสำเร็จ ปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 96.69 จุด หรือ -0.29%, ดัชนี S&P500 ปิด -0.53% และดัชนี Nasdaq ปิด -1.56% ส่งผลให้ทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,941.13 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี มีแรงขายทำกำไรสลับออกมาเป็นระยะ ขณะที่ทองคำได้รับแรงกดดันเพิ่มจากดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นขานรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจหลายรายการที่ออกมาดีเกินคาด อาทิ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐรายสัปดาห์ที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานกำลังฟื้นตัว รวมถึงยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค. จนเป็นปัจจัยสกัดช่วงบวกราคาทองคำเอาไว้ ก่อนที่เช้านี้ในตลาดเอเชีย ราคาทองคำจะทะยานขึ้นทดสอบระดับสูงสุดบริเวณ 1,950.85 ดอลลาร์ต่อออนซ์หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ในยูเครนเนื่องจากกองกำลังทหารของรัสเซียได้เข้าโจมตีในพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็มีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามากดดันตลาดทองคำในที่สุด ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำมาเปลี่ยนแปลง สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขสำคัญในตลาดแรงงานสหรัฐ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร, อัตราการว่างงาน และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงแรงงานประจำเดือนก.พ.

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 96.69 จุด นลท.กังวลสถานการณ์ยูเครน  ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (3 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่รัสเซียถูกนานาประเทศคว่ำบาตรฐานใช้กำลังทหารบุกโจมตียูเครน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,794.66 จุด ลดลง 96.69 จุด หรือ -0.29%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,363.49 จุด ลดลง 23.05 จุด หรือ -0.53% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,537.94 จุด ลดลง 214.08 จุด หรือ -1.56%
  • (+) เกิดไฟไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ในยูเครน หลังกองทัพรัสเซียบุกโจมตี  นายดมิโทร ออร์ลอฟ นายกเทศมนตรีเมืองอีเนอร์โกดาร์ของยูเครนเปิดเผยว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ในยูเครน หลังจากกองกำลังทหารของรัสเซียได้เข้าโจมตีในพื้นที่ดังกล่าว 
  • (+) “ปูติน” ลั่นรัสเซียต้องประสบความสำเร็จในปฏิบัติการทหารต่อยูเครน  ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ในวันนี้ โดยระบุว่า ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เป้าหมายของรัสเซียในการใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน จะต้องประสบความสำเร็จ  ปธน.ปูตินกล่าวว่า เป้าหมายของรัสเซียคือ การทำให้ยูเครนมีสถานะเป็นประเทศที่เป็นกลาง และปลอดทหาร  นอกจากนี้ ปธน.ปูตินระบุว่า ความพยายามใดๆของยูเครนในการถ่วงเวลาการเจรจา รังแต่จะทำให้รัสเซียยื่นเงื่อนไขในข้อเรียกร้องมากขึ้น
  • (+) รมว.ต่างประเทศรัสเซียลั่นสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจเป็น “สงครามนิวเคลียร์”  สำนักข่าวบีบีซีรายงานการแถลงข่าวของนายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย โดยระบุว่า แม้ปธน.โจ ไบเดนแห่งสหรัฐจะกล่าวว่า ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้มาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย คือการทำสงครามโลกครั้งที่ 3 ขณะที่รัสเซียมองว่า สงครามโลกครั้งที่ 3 จะมีโอกาสเป็น “สงครามนิวเคลียร์” เท่านั้น  นายลาฟรอฟกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดของนักการเมืองของชาติตะวันตก แต่ไม่ใช่แนวคิดของชาวรัสเซีย
  • (+) ดัชนี PMI ภาคบริการสหรัฐดีดตัวขึ้นในเดือนก.พ. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.5 ในเดือนก.พ. จากระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. แต่ปรับตัวลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 56.7
  • (+) ISM เผยดัชนีภาคบริการสหรัฐร่วงต่ำสุดรอบ 1 ปีในเดือนก.พ.  สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 56.5 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 61.0 หลังจากแตะระดับ 59.9 ในเดือนม.ค.
  • (-) สหรัฐเผยคำสั่งซื้อภาคโรงงานพุ่งเกินคาดในเดือนม.ค.  กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 1.4% ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนธ.ค.  ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนม.ค.
  • (-) สหรัฐเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานต่ำกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว  กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 18,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 215,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย
  • (-)ดอลล์แข็งค่ารับข้อมูลศก.สดใส จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (3 มี.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานที่พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค. ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้  ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ 97.7860  ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2681 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2651 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 115.42 เยน จากระดับ 115.55 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9190 ฟรังก์ จากระดับ 0.9204 ฟรังก์  ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1062 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1123 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3337 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3372 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7326 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7298 ดอลลาร์สหรัฐ

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More