คำแนะนำ เปิดสถานะซื้อ 1,827 -1,809
จุดทำกำไร ขายเพื่อทำกำไร $1,849-1,847
ตัดขาดทุน ตัดขาดทุนสถานะซื้อหากหลุด $1,809
แนวรับ : 1,827 1,809 1,793 แนวต้าน : 1,849 1,863 1,877
สรุป
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวลดลง 5.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ระหว่างวันราคาทองคำจะอ่อนตัวลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,828.34 ดอลลาร์ต่อออนซ์โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะใช้การประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้เพื่อส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%ในการประชุมเดือนมี.ค. แต่การปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นไปอย่างจำกัด โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ (1.) ตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันศุกร์ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ COVID-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมี.ค. 2020 นำโดยแรงขายหุ้น Netflix หลังเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ และความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (2.) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 1.762% จากแรงซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางการดิ่งลงของสินทรัพย์เสี่ยง (3.) การอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ตามการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และ (4.) กองทุน SPDR ถือครองทองคำเพิ่ม 27.59 ตันในวันศุกร์สู่ระดับ 1,008.45 ตันซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ปี 2021 นอกจากนี้ยังทำสถิติถือครองทองคำเพิ่มในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. ปี 2020 สะท้อนกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าสู่การลงทุน ETF ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ปัจจัยที่กล่าวมาช่วยสกัดช่วงติดลบของราคาทองคำ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐจากมาร์กิต
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) บิตคอยน์ร่วงอีก 8% อีเธอร์ร่วงอีก 10% คาดเฟดเป็นตัวสกัดเทรนด์ขาขึ้น สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า บิตคอยน์ลดลงประมาณ 8% เมื่อวานนี้ (22 ม.ค.) สู่ระดับราว 35,000 ดอลลาร์ โดยมูลค่าร่วงลงเกือบ 50% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ขณะที่อีเธอร์ ร่วงลงเกือบ 10% สู่ระดับราว 2,400 ดอลลาร์ เงินคริปโทฯ ดังกล่าวร่วงลงตามตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 ม.ค.) ซึ่งนักลงทุนวิตกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อตลาด แม้เหตุผลต่อการลงทุนบิตคอยน์โดยทั่วไปคือเพื่อเป็นตัวป้องกันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐก็ตาม แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า เฟดที่คุมเข้มด้านการเงินมากขึ้นอาจเป็นตัวหยุดยั้งเทรนด์ขาขึ้นของตลาดคริปโทฯ นอกจากนี้ ตลาดคริปโทฯ ยังคงถูกกดดันจากการควบคุมด้านกฎระเบียบโดยทางการสหรัฐ ส่วนธนาคารกลางรัสเซียได้เสนอให้มีการสั่งห้ามใช้และห้ามทำเหมืองคริปโทฯ ในรัสเซียเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
- (+) อังกฤษอ้าง รัสเซียมีแผนสถาปนาผู้นำหนุนรัสเซียขึ้นในยูเครน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษกล่าวหารัสเซียว่าพยายามสถาปนาผู้นำที่มีแนวคิดสนับสนุนรัสเซียขึ้นในยูเครน และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัสเซียได้ติดต่อกับอดีตนักการเมืองยูเครนจำนวนหนึ่ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการบุกยูเครน กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษปฏิเสธที่จะให้หลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นในช่วงเวลาตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับกลุ่มชาติตะวันตก ในเรื่องที่รัสเซียสั่งสมกองกำลังนับ 100,000 รายตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ซึ่งรัสเซียยืนยันว่าไม่มีแผนจะบุกยูเครน
- (+) ดอลล์อ่อน หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐลดลง-จับตาประชุมเฟด ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (21 ม.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% แตะที่ 95.6450 ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.66 เยน จากระดับ 114.17 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9117 ฟรังก์ จากระดับ 0.9171 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2574 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2472 ดอลลาร์สหรัฐ ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1341 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1314 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3554 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3612 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7175 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7243 ดอลลาร์
- (+) ดาวโจนส์ปิดร่วง 450.02 จุด หุ้นเน็ตฟลิกซ์ดิ่งหนักฉุดตลาด ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันศุกร์ (21 ม.ค.) โดยถูกกดดันจากหุ้นเน็ตฟลิกซ์ซึ่งดิ่งลงอย่างหนักหลังเปิดเผยผลประกอบการที่อ่อนแอ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ร่วงลงรายสัปดาห์มากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมี.ค. 2563 ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,265.37 จุด ร่วงลง 450.02 จุด หรือ -1.30%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,397.94 จุด ร่วงลง 84.79 จุด หรือ -1.89% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,768.92 จุด ร่วงลง 385.10 จุด หรือ -2.72%
- (+) แอลเอเสียชีวิตจากโควิดวันเดียวกว่า 100 ราย สูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากลอสแอนเจลิส เคาน์ตี เปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 102 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการรายงานดังกล่าว มากกว่า 70% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และจำนวน 90% เป็นผู้ที่ล้มป่วยหลังวันที่ 24 ธ.ค.2564 โดยคาดว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน
- (+) IMF เตือนเฟดขึ้นดอกเบี้ยกระทบเศรษฐกิจประเทศหนี้สูง นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีหนี้เป็นเงินสกุลดอลลาร์จำนวนมาก เนื่องจากจะทำให้ประเทศเหล่านี้ชำระหนี้ในราคาที่แพงมาก
- (-) EU คาดสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านในไม่ช้า เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรป (EU) กล่าวในวันนี้ว่า การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่กรุงเวียนนากำลังมีความคืบหน้า และคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในไม่ช้า “ผมประเมินว่าเรากำลังมีความคืบหน้าไปสู่การทำข้อตกลงขั้นสุดท้าย และผมคิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในไม่ช้า” เจ้าหน้าที่รายนี้กล่าว
- (+/-) Conference Board เผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนธ.ค. Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนธ.ค. สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย.
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.