คำแนะนำ เปิดสถานะขาย $1,664-1,683
จุดทำกำไร ซื้อคืนเพื่อทำกำไร $1,631-1,614
ตัดขาดทุน ตัดขาดทุนสถานะขายหากผ่าน $1,683
แนวรับ : 1,631 1,614 1,600 แนวต้าน : 1,664 1,683 1,700
สรุป
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.62 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดที่ลงไปทดสอบในวันศุกร์ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดัชนีดอลลาร์ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจาก.. (1.) เงินปอนด์ที่พุ่งขึ้นแตะ 1.1440 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. หลังจากนายเจเรมี ฮันท์รมว.คลังคนใหม่ของอังกฤษได้ยกเลิกมาตรการปรับลดภาษี 4.5 หมื่นล้านปอนด์ที่เคยสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินในช่วงที่ผ่านมา
(2.) แบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด ได้กระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงจนบั่นทอนความต้องการดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และ (3.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กรายงานว่าดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ร่วงลงสู่ระดับ -9.1ในเดือนต.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0 สถานการณ์ดังกล่าวกดดันดัชนีดอลลาร์ให้ปิดอ่อนค่าลง 0.99% แตะที่ 112.0320 จนเป็นปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในระหว่างวันบริเวณ 1,668.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ของราคาทองคำ
อย่างไรก็ดี ราคาทองคำลดช่วงบวกลงในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากแรงขายกำไรและแรงขายทางเทคนิค ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้นในวันจันทร์ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบางซึ่งกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย
ขณะที่กองทุน SPDR ลดการถือครองทองคำลง -2.03 ตันจึงเป็นปัจจัยสกัดช่วงบวกของราคาทองคำเพิ่มเติม สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยอัตราการใช้กำลังการผลิต, การผลิตภาคอุตสาหกรรม และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค.จาก NAHB
ข่าวสารประกอบการลงทุน
• (+) ปอนด์แข็งค่า ขานรับรัฐบาลอังกฤษพับแผนหั่นภาษี เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (17 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.13% แตะที่ 112.0320 เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1363 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1169 ดอลลาร์
ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.9850 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9729 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6294 ดอลลาร์สหรัฐ 0.6204 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 148.89 เยน จากระดับ 148.67 เยน แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9957 ฟรังก์ จากระดับ 1.0051 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3721 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3884 ดอลลาร์แคนาดา
• (+) ขุนคลังอังกฤษประกาศพับแผนหั่นภาษีที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ นายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของอังกฤษ แถลงในวันนี้ว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีเกือบทั้งหมดที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ “รัฐบาลมีความรับผิดชอบหลักในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีรัฐบาลใดสามารถควบคุมตลาดได้ แต่ทุกรัฐบาลสามารถสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความยั่งยืนของสถานะทางการคลัง ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีและผมมีความมุ่งมั่นที่จะปรับลดอัตราภาษีในภาคธุรกิจ แต่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้รับฟังความห่วงใยเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณเสริม” แถลงการณ์ของนายฮันท์ระบุ
• (+) เฟดนิวยอร์คเผยดัชนีภาคการผลิตต่ำกว่าคาดในเดือนต.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ต่ำกว่าคาดในวันนี้ ทั้งนี้ เฟดสาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิตร่วงลงสู่ระดับ -9.1 ในเดือนต.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0 จากระดับ -1.5 ในเดือนก.ย. ดัชนีภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
ขณะที่ภาคธุรกิจลดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยได้หดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
• (+) “มูดี้ส์” เตือนเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า นายมาร์ก แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า นายแซนดีกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้มีการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เนื่องจากการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราว่างงานอยู่ที่ระดับ 3.5% อย่างไรก็ดี นายแซนดีคาดว่าการปลดคนงานจะเพิ่มขึ้นในอนาคต “การที่มีอัตราว่างงานต่ำมักทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ” นายแซนดีกล่าว ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อชะลอตลาดแรงงาน นายแซนดีระบุว่า “วิธีเดียวที่จะสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือการทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย และสิ่งนี้จะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2566”
• (-) เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ใน Q3/65 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 3 เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 19 ต.ค. ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
• (-) นักลงทุนคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อีก 2 ครั้ง หลัง CPI พุ่งเกินคาด นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย.และธ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่สูงเกินคาด ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 94.70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และให้น้ำหนัก 66.70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.
• (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 550.99 จุด รับผลประกอบการแบงก์ออฟอเมริกา ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดในวันจันทร์ (17 ต.ค.) หลังจากแบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด ซึ่งช่วยให้นักลงทุนมีมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,185.82 จุด พุ่งขึ้น 550.99 จุด หรือ +1.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,677.95 จุด เพิ่มขึ้น 94.88 จุด หรือ +2.65% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,675.80 จุด พุ่งขึ้น 354.41 จุด หรือ +3.43%
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.