ทองคำปรับขึ้นเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์อีกครั้ง
คืนนี้สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค.
แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหว Sideways up
- ราคาทองคำ Spot ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์อีกครั้ง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐที่อ่อนแอ รวมถึงความตึงเครียดในยูเครนที่เพิ่มมากขึ้น ภายหลังนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยืนยันว่ารัสเซียเตรียมการโจมตียูเครนในอีกไม่กี่วัน และจะมีการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ส่งผลให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจนำมาสู่การใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียจากชาติตะวันตกและสหรัฐ ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust ถือครองทองคำเท่าเมื่อวานที่ผ่านมา
- คืนนี้สหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 6.10 ล้านยูนิต จาก 6.18 ล้านยูนิตในเดือนธ.ค. และดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจเดือนม.ค. โดย conference Board ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนธ.ค.
- แนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหว Sideways up โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,880 ดอลลาร์ และแนวรับถัดไปที่ 1,870 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,910 ดอลลาร์ และ 1,920 ดอลลาร์
ราคาทองตลาดโลก
Close | Support | Resistance |
1,897.70 | 1,880/1,870 | 1,910/1,920 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | Support | Resistance |
28,750 | 28,550/28,400 | 28,950/29,050 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | Support | Resistance |
28,960 | 28,820/28,670 | 29,080/29,180 |
แนะนำเข้าซื้อราคาทอง Spot ที่ 1,880 ดอลลาร์ (GF 28,820 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,870 ดอลลาร์ (GF 28,670บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | Support | Resistance |
1,902.80 | 1,882/1,872 | 1,912/1,922 |
แนะนำเข้าซื้อราคา GOH22 ที่ 1,882 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,872 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมากสุดในรอบ 5 เดือนครึ่ง เนื่องจากกระแสเงินไหลเข้าในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของไทย ในขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทคาดว่ายังคงแข็งค่า สำหรับ USD Futures เดือนมี.ค.65 มีแนวรับที่ 31.90 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 32.45 บาท/ดอลลาร์
News
เฟดส่งสัญญาณอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังเพิ่มต่อเนื่อง
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค. โดยระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ, ตลาดแรงงาน และการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลด้านอื่น ๆ ในการประชุมแต่ละครั้ง และเฟดจะกลับมาประเมินไทม์ไลน์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้ง รายงานการประชุมบ่งชี้ว่า เฟดมีความพร้อมที่จะรับมือกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี โดยกรรมการเฟดกล่าวว่า แม้เฟดคาดว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ แต่เฟดก็พร้อมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ “กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า หากเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงตามที่เฟดคาดการณ์ไว้ ก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสมที่คณะกรรมการเฟดจะยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ในปัจจุบัน” รายงานประชุมระบุ กรรมการเฟดส่วนหนึ่งกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมากในปัจจุบัน อาจทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมแต่ละครั้งในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เฟดเริ่มเข้าสู่วงจรการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมทุกครั้งของปีนี้
โมเดอร์นาเผยโควิดอาจมาสู่โค้งสุดท้ายแล้ว ขณะเร่งทดลองบูสเตอร์สกัดโอมิครอน
นายสเตฟาน บัลเซล ซีอีโอบริษัทโมเดอร์นาเผยว่า การตั้งสมมติฐานว่าการระบาดของโควิด-19 กำลังมาถึงช่วงสุดท้ายแล้วนั้น มีความสมเหตุสมผล “ผมคิดว่า การตั้งสมมติฐานนี้สมเหตุสมผล แม้จะมีโอกาส 80% ที่ไวรัสโอมิครอนจะกลายพันธุ์หรือเกิดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ก็จะมีความรุนแรงน้อยลงเรื่อย ๆ” นายบันเซลให้สัมภาษณ์ในรายการ Squawk Box Asia ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซี ขณะเดียวกัน นายบันเซลยังกล่าวว่า “โอกาสที่ไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคตจะรุนแรงกว่าโอมิครอนมีอยู่ที่ 20% ผมคิดว่าเรายังโชคดีที่โอมิครอนไม่ได้รุนแรง อย่างไรก็ดี เราไม่ควรประมาท เพราะยังมีผู้เสียชีวิตนับพันคนทั่วโลกทุกวันเนื่องจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน” ผลการศึกษาบางส่วนแสดงให้เห็นว่า แม้ไวรัสโอมิครอนจะติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น แต่โดยทั่วไปก็ไม่ได้ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยรุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังย้ำว่า การระบาดของไวรัสโอมิครอนจะค่อย ๆ หายไปเอง
นักเศรษฐศาสตร์คาดแบงก์ชาติตลาดเกิดใหม่ในเอเชียไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด
นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า บรรดาธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียนั้นไม่เร่งรีบที่จะดำเนินการตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แม้เฟดจะเปลี่ยนแนวทางมาคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกก็ตาม “ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียมีแนวโน้มจะยึดมั่นต่อนโยบายของตนเองและให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะแทบไม่กังวลเรื่องการที่ต้องล้าหลังในด้านการคุมเข้มนโยบาย” นักเศรษฐศาสตร์กล่าว สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ตลาดทั่วโลกเผชิญกระแสความผันผวน เนื่องจากนักลงทุนปรับฐานการลงทุน เพราะคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปีนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริการะบุว่า มี 3 เหตุผลที่ช่วยให้ธนาคารกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียสามารถชะลอการคุมเข้มนโยบายการเงินออกไปได้ ประการแรกก็คือเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคอยู่ในระดับปานกลาง ประการที่สอง การเติบโตด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังซบเซา ประการที่สาม ทุนสำรองระหว่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัดช่วยลดแรงกดดันจากการไหลออกของเงินทุน
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.