ทองคำแกว่งตัวผันผวนหลังเฟดส่งสัญญาณลดสภาพคล่อง
บาทแนวโน้มอ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกต่อราคาในประเทศ
ทองมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังรับรู้ผลประชุมเฟด
- การประชุมของธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษเริ่มมีสัญญาณการปรับลดสภาพคล่องในระบบ โดยธนาคารยุโรปประกาศปรับลดวงเงินในการซื้อตราสารลง ส่วนธนาคารกลางอังกฤษมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สะท้อนถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
- การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันนี้ คาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนระดับอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบัน เงินเยนที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ดังนั้นแม้ธนาคารกลางของประเทศยุโรป รวมทั้งสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณปรับนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น คงไม่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆในเอเชีย
- การปรับลดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐแม้จะเป็นปัจจัยลบต่อราคาทอง แต่การปรับลดสภาพคล่องสะท้อนถึงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐที่เร่งตัวขึ้น และในสัปดาห์หน้าจะมีรายงานข้อมูลการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลหนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะเงินเฟ้อ หากการใช้จ่ายส่วนบุคคลยังขยายตัวขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทอง
- ภาพการเคลื่อนไหวทางเทคนิคของทองคำยังเป็นการแกว่งตัวสร้างฐาน โดยมีแนวรับอยู่ที่ 1,765-1,770ดอลลาร์ หากไม่กลับลงไปปิดต่ำกว่าแนวรับบริเวณนี้ การเคลื่อนไหวทางเทคนิคก็ยังมีแนวโน้มที่ราคาทองจะกลับขึ้นไปทดสอบแนวต้านบริเวณ 1,810 และ 1,820 ดอลลาร์ ต่อไป
ราคาทองตลาดโลก
Close | chg. | Support | Resistance |
1,799.00 | +22.50 | 1,775/1,760 | 1,810/1,820 |
ราคาทองแท่ง 96.5%
Close | chg. | Support | Resistance |
28,300 | +250 | 28,100/27,850 | 28,600/28,750 |
โกลด์ฟิวเจอร์ส
Close | chg | Support | Resistance |
28,510 | +140 | 28,220/28,000 | 28,770/28,920 |
แนะนำเข้าซื้อเมื่อราคาทอง Spot ปรับลงมาที่ 1,770-1,775 ดอลลาร์ (GF 28,220 บาท) โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,760 ดอลลาร์ (GF 28,000 บาท)
โกลด์ออนไลน์ฟิวเจอร์
Close | chg | Support | Resistance |
1,797.50 | +10.90 | 1,776/1,761 | 1,811/1,821 |
แนะนำเข้าซื้อเมื่อราคา GOZ21 ปรับลงมาที่ 1,771-1,776 ดอลลาร์ โดยมีจุดขายตัดขาดทุนที่ 1,761 ดอลลาร์
ค่าเงิน
ธนาคารกลางสหรัฐและประเทศในยุโรปที่มีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้น สวนทางกับประเทศในเอเชีย เงินบาทจึงมีแนวโน้มอ่อนค่า แนวรับสำหรับเก็งกำไรอยู่ที่บริเวณ 33.30-33.40 บาทต่อ ดอลลาร์ สำหรับ USD Futures เดือนธ.ค.64 คาดจะมีแนวรับที่ 33.30 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 33.60 บาท/ดอลลาร์
News
ตลาดการเงินต่างประเทศ : ปอนด์แข็งค่า ขานรับแบงก์ชาติอังกฤษขึ้นดอกเบี้ย
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวานนี้ ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด ขณะที่สกุลเงินยูโรแข็งค่า หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรในการประชุมเมื่อวานนี้
ตลาดโลหะมีค่าต่างประเทศ : ทองปิดพุ่ง $33.7 รับแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย-ดอลล์อ่อนหนุนตลาด
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งกว่า 30 ดอลลาร์เมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 33.7 ดอลลาร์ หรือ 1.91% ปิดที่ 1,798.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค. 2564 สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 94 เซนต์ หรือ 4.36% ปิดที่ 22.485 ดอลลาร์/ออนซ์
ตลาดน้ำมันดิบต่างประเทศ : น้ำมัน WTI ปิดพุ่ง $1.51 รับดีมานด์สดใส-ดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ว่าความต้องการใช้น้ำมันยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับสัญญาน้ำมัน สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 1.51 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 72.38 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2564 ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 75.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลาดหุ้นต่างประเทศ : ดาวโจนส์ปิดลบ 29.79 จุด, Nasdaq ร่วงหนักจากแรงขายหุ้นเทคโนฯ
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ร่วงลงเกือบ 2.5% เนื่องจากเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 35,897.64 จุด ลดลง 29.79 จุด หรือ -0.08%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,668.67 จุด ลดลง 41.18 จุด หรือ -0.87% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,180.43 จุด ร่วงลง 385.15 จุด หรือ -2.47%
ผู้เคยติดเชื้อโควิดและฉีดไฟเซอร์ 2 โดสอาจต้านโอมิครอนได้ดีกว่า
ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยด้านสุขภาพแห่งแอฟริกาใต้เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหน้านี้และได้รับวัคซีน 2 โดสของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค อาจมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งมากขึ้นในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อเล็กซ์ ซีกัล ผู้นำทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันดังกล่าวเปิดเผยในวันพุธ (15 ธ.ค.) ว่า จากผลการทดลองเลือดพลาสมาในห้องแล็บทำให้ประมาณการได้ว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และได้รับวัคซีน 2 โดสของไฟเซอร์ จะสามารถการป้องกันการเกิดโรคที่แสดงอาการจากการติดเชื้อไวรัสโอมิครอนได้ 73% และสามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้เชื้อถึง 95% ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงอย่างเดียวแต่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนนั้น คาดว่าจะสามารถป้องกันโรคที่แสดงอาการได้เพียง 35% และป้องกันการติดเชื้อรุนแรงได้ 77% ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของแอฟริกาใต้และบอตสวานาได้ประกาศการพบไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
เฟดหั่นคาดการณ์ GDP สหรัฐปีนี้สู่ 5.5% ขณะเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อสู่ 5.3%
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุม ขณะเดียวกัน เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2565 โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมี.ค.2565 นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567 ทั้งนี้ การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดวงเงิน QE ในวันนี้สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่เฟดได้ส่งสัญญาณหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่าเฟดจะเร่งการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เฟดได้เริ่มใช้ในเดือนมี.ค.2563 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนั้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ญี่ปุ่นไฟเขียวรวมวัคซีนโมเดอร์นาในโครงการฉีดบูสเตอร์ให้ประชาชน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติให้รวมวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นาในโครงการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้กับประชาชนซึ่งได้เริ่มดำเนินการในเดือนนี้ การอนุมัติในวันนี้มีขึ้นหลังได้รับคำแนะนำจากทีมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.) ว่า วัคซีน mRNA ของโมเดอร์นาควรถูกนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มบูสเตอร์สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่อนุมัติใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์/ไบออนเทค โดยนับจนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ของไฟเซอร์/ไบออนเทคไปแล้วประมาณ 71,000 โดส หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.1% ของจำนวนประชากรในประเทศ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ฉีดวัคซีนครบโดสในอัตราส่วนเกือบ 80% ของจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม G7
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.