Gold Around
ราคาทองคำ ข่าวสารและแนวโน้มราคาทองคำวันนี้

บทวิเคราะห์ราคาทองคำ 15 ต.ค.64 by YLG

- Advertisement -

392

- Advertisement -

คำแนะนำ :

หากราคาไม่สามารถยืนเหนือ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เสี่ยงเปิดสถานะขาย โดยตัดขาดทุนหากผ่านแนวต้านในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับการปิดสถานะขายทำกำไรอาจพิจารณาดูบริเวณ 1,784-1,773 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถยืนได้ให้ชะลอการเข้าซื้อคืนออกไป

แนวรับ : 1,784 1,773 1,757  แนวต้าน : 1,800 1,817 1,833

สรุป  

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ในระหว่างวันราคาทองคำทะยานขึ้นโดยได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ร่วงลงต่อเนื่องแตะระดับ 1.509% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. จากความวิตกว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจดำเนินนโยบายผิดพลาด(Policy Error) ทั้งในแง่ที่ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยช้าไป หรือ อาจขึ้นดอกเบี้ยมากและเร็วเกินไปซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวชะลอตัวลง  ซึ่งการร่วงลงของบอนด์ยีลด์หนุนทองในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย พร้อมกับกดดันดัชนีดอลลาร์ให้ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 วันจนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนบริเวณ 1,800.33 ดอลลาร์ต่อออนซ์  อย่างไรก็ดี  การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำเริ่มเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากราคาอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป  ประกอบกับดัชนีดอลลาร์ฟื้นตัวลดช่วงติดลบหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก “ลดลงเกินคาด” สู่ระดับ 293,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2020 ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายราย  อาทิ  นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดเซนต์หลุยส์, นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟดฟิลาเดลเฟีย และนางแมรี เดลี ประธานเฟดซานฟรานซิสโกต่างออกมายืนยันสอดค้องกันว่าอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานของสหรัฐมีความคืบหน้าเพียงพอสำหรับเฟดที่จะเริ่มปรับลด QE ในการประชุมเดือนหน้า  จึงถือเป็นปัจจัยกดดันที่สกัดช่วงบวกราคาทองคำเอาไว้  ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลง  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยยอดค้าปลีก และดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index)ของสหรัฐ

- Advertisement -

ข่าวสารประกอบการลงทุน :

  • (+) ดอลล์อ่อนค่า เหตุบอนด์ยีลด์ร่วง-นลท.ขายสกุลเงินปลอดภัย  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงและให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่นยูโรและปอนด์ นอกจากนี้ การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังเป็นปัจจัยกดดันสกุลเงินดอลลาร์  ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.14% แตะที่ 93.9578 เมื่อคืนนี้  ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9233 ฟรังก์ จากระดับ 0.9241 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2368 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2436 ดอลลาร์แคนดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.66 เยน จากระดับ 113.36 เยน  ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1599 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1588 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3686 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3641 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7417 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7374 ดอลลาร์
  • สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวการทูตว่า ญี่ปุ่น สหรัฐ และเกาหลีใต้ กำลังพิจารณาจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบประเด็นเกาหลีเหนือในสัปดาห์หน้า ซึ่งนับเป็นการหารือกันครั้งแรกตั้งแต่ญี่ปุ่นเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่  รายงานระบุว่า การประชุมดังกล่าวคาดว่าจะเป็นการแสดงพลังความร่วมมือของ 3 ชาติ ขณะที่เกาหลีเหนือยังคงสร้างความตึงเครียดในภูมิภาค เช่น การทดสอบยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงการเปิดตัวขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่
  •  กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6% หลังจากดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนส.ค.  เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 8.6% ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.7% หลังจากดีดตัวขึ้น 8.3% ในเดือนส.ค.  ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ขยับขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 5.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2525
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) จะส่งยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ให้แก่คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ใช้เป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในสหรัฐเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่  การดำเนินการของ FDA มีขึ้น หลังจากที่เมอร์คได้ยื่นเรื่องต่อ FDA เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน  ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ดังกล่าวจะทำการพิจารณาว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 หรือไม่ ก่อนที่จะทำรายงานเสนอความเห็นแก่ FDA ต่อไป  หากคณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน ก็จะเป็นการปูทางให้ FDA ทำการอนุมัติอย่างเป็นทางการต่อไป
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 293,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยต่ำกว่าระดับ 300,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ  นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 318,000 ราย และต่ำกว่าระดับ 329,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
  • ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ (14 ต.ค.) ขานรับผลประกอบการที่แข็งแกร่งของธนาคารรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงแบงก์ ออฟ อเมริกา นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่ลดลงอย่างมากในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง  ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,912.56 จุด เพิ่มขึ้น 534.75 จุด หรือ +1.56% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,438.26 จุด เพิ่มขึ้น 74.46 จุด หรือ +1.71% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,823.43 จุด เพิ่มขึ้น 251.79 จุด หรือ +1.73%

ขอขอบคุณ  : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)

- Advertisement -

- Advertisement -

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More