หากราคาไม่หลุด 1,950-1,948 ดอลลาร์ต่อออนซ์เสี่ยงเปิดสถานะซื้อในบริเวณดังกล่าว(ตัดขาดทุนหากหลุด 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์) เน้นการลงทุนระยะสั้นโดยทยอยแบ่งขายทำกำไรโซน 1,976-1,992 ดอลลาร์ต่อออนซ์และไม่ควรถือสถานะจำนวนมาก
แนวรับ : 1,909 1,887 1,862 แนวต้าน : 1,955 1,976 1,991
สรุป ราคาทองคำวานนี้ปิดทรงตัวแทบไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในระหว่างวัน ราคาทองคำจะทะยานขึ้นจนแตะระดับสูงสุดบริเวณ 1,992.63 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ ในระหว่างวันดัชนีดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2018 ที่ 91.746 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เปลี่ยนกรอบนโยบายเงินเฟ้อไปเป็น “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย หรือ หรือ Average-inflation targeting (AIT)” อย่างไรก็ดี ราคาทองคำไม่สามารถรักษาช่วงบวกไว้ได้ และดิ่งลงแรงในทันทีที่ ISM เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5 เนื่องจากการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวกลับมาหนุนให้ดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดแรงขายในตลาดทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำร่วงลง 30 ดอลลาร์ต่อออนซ์จากระดับสูงสุดในระหว่างวันลงมาปิดตลาดที่ระดับ 1,969.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านกองทุนถือครองทองคำลดลง -0.87 ตัน สู่ระดับ 1,250.63 ตัน แต่กระนั้นในปี 2020 กองทุน SPDR ยังถือครองทองคำเพิ่มถึง +357.38 ตัน สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP และ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รวมถึงการเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book และแนะนำติดตามถ้อยแถลงของ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดนิวยอร์ก และนางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดคลีฟแลนด์
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ผู้ว่าการเฟดชี้ศก.สหรัฐต้องการการกระตุ้นเพิ่มเติมจากเฟดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อวานนี้นางลาเอล แบรนาร์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะจำเป็นต้องออกแผนความพยายามใหม่ “ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฝ่าฟันผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และปฏิบัติตามคำสัญญาใหม่ของเฟดเรื่องการเติบโตด้านการจ้างงานที่แข็งแกร่งขึ้นและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เธอกล่าวว่า “ในขณะที่การฟื้นตัวมีแนวโน้มจะเผชิญอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สักระยะ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนโยบายการเงินในการเปลี่ยนจากมีเสถียรภาพสู่เชิงผ่อนคลาย” และในการทำสิ่งที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่ของ “การจ้างงานอย่างเต็มที่และเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2% ในระยะยาว” เธอกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าว “จะได้รับการชี้นำ” โดยกลยุทธ์ใหม่ ซึ่งสร้างสมดุลความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกับความพยายามในการส่งเสริมการเติบโตด้านการจ้างงานเพิ่มเติม
- (+) “มาร์กิต”เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 1 ปีครึ่งในเดือนส.ค. ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 50.9 ในเดือนก.ค.
- (+) สหรัฐเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างขยับขึ้น 0.1% ในเดือนก.ค. หลังจากร่วงลง 0.5% ในเดือนมิ.ย. นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนก.ค.
- (-) ISM เผยดัชนีภาคการผลิตสหรัฐพุ่งสูงสุดรอบกว่า 1 ปีครึ่งในเดือนส.ค. สอดคล้อง”มาร์กิต” ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.5
- (-) ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 215.61 จุด รับแรงซื้อหุ้นเทคโนฯ,ภาคการผลิตสหรัฐแข็งแกร่ง ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq และ S&P500 ต่างก็ปิดทำนิวไฮ โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนต้องทำงานจากที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นหุ้น Zoom Video Communications นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,645.66 จุด เพิ่มขึ้น 215.61 จุด หรือ +0.76% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,939.67 จุด เพิ่มขึ้น 164.21 จุด หรือ +1.39% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,526.65 จุด เพิ่มขึ้น 26.34 จุด หรือ +0.75%
- (-) ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก ขานรับภาคการผลิตสหรัฐสดใส ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งในเดือนส.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.ของสหรัฐซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันนี้ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.21% แตะที่ระดับ 92.3572 เมื่อคืนนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.96 เยน จากระดับ 105.87 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9094 ฟรังก์ จากระดับ 0.9032 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3074 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3027 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1907 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1935 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3377 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3376 ดอลลาร์
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)